ตามรอย “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เดินหน้าลงทุน เอาชนะทุกศึกสงคราม

ตามรอย “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เดินหน้าลงทุน เอาชนะทุกศึกสงคราม

วันที่ 21 ตุลาคม 2566 นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จิตตะ เวลธ์ จำกัด ผู้ให้บริการกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth เปิดเผยว่า ไม่น่าเชื่อว่าในช่วง 2 ปีมานี้ เราเจอกับเหตุการณ์สงครามติดต่อกันปีต่อปีเลยทีเดียว เมื่อต้นปีก่อนสงครามรัสเซียยูเครน สร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจและตลาดการลงทุนทั่วโลก มาช่วงปลายปีนี้สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาส ก็ทำให้นักลงทุนปั่นป่วนกันอีกรอบ

แม้ตอนนี้สถานการณ์สงครามยังไม่ได้รุนแรงมาก แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะความไม่แน่นอนหมุนอยู่รอบตัวเราเสมอ ดังนั้นหน้าที่ของนักลงทุนจึงต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ปรับพอร์ตลงทุนให้เท่าทันกับสถานการณ์อยู่เสมอ ที่สำคัญ ‘Stay Invest’ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรายังต้องลงทุนต่อไป

เช็คราคาสินทรัพย์หลังสงคราม

เห็นข่าวในเช้าวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา หลายคนคงตกใจ เมื่อกลุ่มติดอาวุธฮามาส (Hamas) ชาวปาเลสไตน์ ยิงจรวดจากฉนวนกาซาเข้าโจมตีหลายพื้นที่ของอิสราเอล และอิสราเอลก็ตอบโต้กลับทันที โดยการโจมตีทางอากาศไปยังพื้นที่ฉนวนกาซา เปิดฉากสงครามรอบใหม่จากปัญหาความขัดแย้งเดิม ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมายาวนานนับร้อยปี

เรามาดูกันครับว่า สงครามที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์อะไรบ้าง ที่ถูกกระทบหนักสุดคงหนีไม่พ้นราคาน้ำมัน หลังข่าวการโจมตีของทั้ง 2 ฝ่ายเผยแพร่ออกมา ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นไปทันทีที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

เพราะตลาดกังวลว่าภาวะสงครามอาจทำให้น้ำมันขาดตลาดได้ โดยราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent ปรับตัวขึ้นมากกว่า 5% มาอยู่ที่ 86 ดอลลาร์ และ 89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันดิบลดลงสู่จุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เพราะความต้องการที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ตึงตัวทั่วโลก

อีกหนึ่งสินทรัพย์หลักที่ได้รับผลกระทบ นั่นก็คือทองคำ โดยเช้าวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา ราคา Gold Spot พุ่งขึ้น 0.9% มาอยู่ที่ 1,843.83 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพราะนักลงทุนพากันหลบภัยสงครามสู่ Safe Haven ซึ่งทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์กลุ่มปลอดภัยสูงนั่นเอง

ส่วนผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนยังมีไม่มากนัก โดยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลหลักอื่นๆ อย่างยูโรและปอนด์ เงินเยนยังคงเป็นแหล่งพักเงินและช่องทางเก็งกำไรสำหรับนักลงทุน และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

ทางด้านหุ้น ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ สูง แน่นอนครับ ปรับลดลงกันแทบทุกตลาดทั่วโลก โดยเมื่อวันศุกร์ ที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา ดัชนี Down Jones -0.12% ทางด้านยุโรป STOXX600 -0.98% Nikkei225 -0.55% และตลาดหุ้นจีน CSI300 -1.05%

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามยังคงดำเนินต่อไปและเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของการปะทะระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ปัจจัยเสี่ยงนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นของคู่พิพาทชัดเจนขึ้น โดยตลาดหุ้น Tel Aviv (TA) ของอิสราเอล ดัขนี TA-125 ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิง และ TA-35 ซึ่งเป็นกระดานหุ้นบลูชิป ลดลงทั้งคู่ประมาณ 3.6%

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยซึ่งปิดทำการในวันหยุดสำคัญ ศุกร์ที่ 13 ตุลาคม และเปิดทำการซื้อขายอีกครั้งในวันจันทร์ ที่ 16 ตุลาคม SET Index ของเราก็ร่วงลงทันทีตาม Sentiment ตลาด โดยระหว่างวันตลาดหุ้นไทยปรับลดลงกว่า 30 จุด เพราะตลาดตกใจทั้งเรื่องสงคราม และกลัวว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อคุมเงินเฟ้อ หลังจากราคาน้ำมันทะยานขึ้นจากสถานการณ์สงคราม

ตามรอย ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ลงทุนช่วงสงคราม

เมื่อพูดถึง ‘สงคราม’ เราคงนึกถึงความโหดร้ายและสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับนะครับว่า ช่วงหลัง ๆ มานี้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งกรณีความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ Trade War และ Tech War ของ 2 ขั้วมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลกระหว่างจีน-สหรัฐ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มาถึงสงครามล่าสุดระหว่างมหากาพย์คู่ขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ท่ามกลางความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายคนอาจถอดใจกับการลงทุน เน้นถือครองเงินสดเพื่อเพลย์เซฟที่สุด โดยเฉพาะในสถานการณ์สงครามแบบนี้ แต่อย่างที่ผมเคยกล่าวไว้เสมอ ๆ นะครับว่า

การไม่ลงทุนก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เพราะจะทำให้เราพลาดโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับการกอดเงินสดไว้เฉยๆ โดยเฉพาะในภาวะเงินเฟ้อสูงแบบนี้ และผมก็ขอยกตัวอย่างการลงทุนของบรมครูปู่ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ในภาวะสงครามกันอีกครั้ง เผื่อเป็นความหวังให้ทุกท่านในภาวะหดหู่ของสงคราม ให้มีกำลังใจเดินหน้าลงทุนกันต่อไป

หลายคนอาจจะทราบกันแล้วนะครับว่า คุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซื้อหุ้นตัวแรกในชีวิตตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 แถมยังเคยแนะนำให้ลงทุนในช่วงสงคราม ซึ่งปู่เองยังเคยซื้อหุ้นตอนที่รัสเซียกำลังเข้ายึดไครเมียในปี 2557 มาแล้ว แถมบอกว่ารู้สึกดีที่หุ้นที่เล็งไว้ราคาตก แต่ถ้าใครยังไม่รู้ ผมจะขอแชร์ประสบการณ์การลงทุนในภาวะสงครามของคุณปู่ให้ทราบกันอีกครั้ง

ย้อนอดีตกลับไปเมื่อต้นปี 2557 ช่วงที่รัสเซียกำลังเข้ายึดคาบสมุทรไครเมียจากยูเครน เหตุการ์เหมือน ‘แดจาวู’ ใช่มั้ยล่ะครับ สงครามครั้งนั้นทำให้ตลาดหุ้นถูกครอบงำไปด้วยความกลัว นักลงทุนพากันเทขายจนหุ้นตกเป็นใบไม่ร่วงในช่วง Fall season แต่ปู่กลับให้สัมภาษณ์แบบสวนกระแสว่า

“ผมอยากบอกนักลงทุนที่กำลังตกใจว่า ตอนที่ผมตื่นขึ้นมาตอนเช้า แล้วเห็นหุ้นที่ผมกำลังไล่ซื้อราคาตกลงมา ผมกลับรู้สึกดีนะ”

หลายคนคงตั้งคำถามว่า ตลาดหุ้นปั่นป่วนขนาดนี้ และไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์จะจบแบบไหน เมื่อไหร่ แล้วทำไมปู่บัฟเฟตต์ถึงแนะนำแบบนี้ ซึ่งปู่บอกว่า “ถ้ามัน (วิกฤตไครเมีย) กลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือสงครามเย็นรอบใหม่ ผมก็ยังจะซื้อหุ้นอยู่ดี เพราะในช่วงสงคราม เงินเฟ้อจะสูง ทำให้กำลังซื้อลดลง (จากการถือเงินสด)” และย้ำว่า “สิ่งสุดท้ายที่คุณควรทำตอนเกิดสงครามคือการถือเงินสด”

สิ่งที่ปู่ต้องการจะบอกก็คือ เมื่อสงครามมาถึง ค่าของเงินก็จะลดลงอยู่ดี หมายความว่า เมื่อก่อนมีเงิน 10 บาทคุณอาจจะซื้อน้ำได้ 1 ขวด แต่ 10 บาท ในภาวะสงครามคุณอาจจะซื้อไม่ได้สักขวดด้วยซ้ำ การลงทุนนี่ล่ะ ที่จะช่วยให้ค่าของเงินที่คุณมี ไม่ลดน้อยหายไปตามภาวะสงคราม

แต่ปู่ก็ไม่ได้บอกให้ซื้อหุ้นแค่อย่างเดียวนะครับ เราสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ได้อีกด้วย โดยบอกว่า “คุณจะลงทุนอย่างอื่นก็ได้ เช่น ฟาร์ม อะพาร์ตเมนต์ ขอแค่เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ย่อมดีกว่าการกอดเงินสดเอาไว้แน่ ๆ”

“ยิ่งถ้าเป็นการลงทุนระยะยาวด้วยแล้ว การมีสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ (ปู่ใช้คำว่า Productive asset) ไปอีก 50 ปี ย่อมดีกว่าการถือแผ่นกระดาษ (เงินสด) หรือบิตคอยน์เอาไว้แน่นอน”

คำพูดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ในยามสงครามคุณปู่ก็ยังยึดมั่นในหลักการที่จะซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงเสมอ เพราะในตอนเกิดวิกฤตไครเมีย ราคาหุ้นก็ตกลงมาพอสมควร ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นในเวลาไม่ถึงเดือน

เงินเฟ้อกับสงคราม ความสัมพันธ์ที่แนบแน่น

ถ้าเราย้อนไปดูตัวเลขเงินเฟ้อช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง เราจะเข้าใจสิ่งที่ปู่พูดมากขึ้น เพราะตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปู่ยังไม่เกิด) เงินเฟ้อเฉลี่ยในสหรัฐฯ อยู่ที่ 9.7% ต่อปี โดยมีช่วงที่เงินเฟ้อสูงเป็นเลขสองหลักติดต่อกันยาวนานถึง 26 เดือน ส่วนตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เงินเฟ้อเฉลี่ยในสหรัฐฯ อยู่ที่ 4.3% ต่อปี โดยมีถึง 9 เดือนที่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ เป็นเลขสองหลัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ

ที่เงินเฟ้อสูงในช่วงสงครามโลก เพราะรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อจ้างเอกชนให้ผลิตเสบียงที่ต้องใช้ในสงคราม เช่น เสื้อผ้า อาหาร ยา อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่แหละที่ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในวัยเด็กทุบกระปุก เอาเงินเก็บมาซื้อหุ้นตัวแรกตั้งแต่อายุ 11 ปี แถมเป็นการซื้อก่อนเกิดเหตุการณ์ Pearl Harbor ไม่นานด้วย

และถ้าได้ศึกษาหลักการลงทุนแบบ VI ของปู่จะทราบดีว่า เขาพยายามซื้อหุ้นของบริษัทที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้อยู่เสมอ จากสงครามครั้งนั้น วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังให้ข้อคิดกับนักลงทุนว่า

“ผมอยากบอกว่ามัน (วิกฤตไครเมีย) จะไม่ทำให้ผมต้องขายหุ้นหรือต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะถ้าคุณเป็นเจ้าของบริษัทที่ทำธุรกิจอยู่ในสหรัฐฯ ทำไมคุณถึงจะขายมันเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นในยูเครน? หรือถ้าคุณเป็นเจ้าของฟาร์มที่ให้ผลผลิตตลอด เป็นเจ้าของอะพาร์ตเมนท์ที่มีคนเช่าเต็ม มีเหตุผลอะไรที่คุณจะขายมันเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครน?”

‘ความไม่แน่นอน เป็นอนิจจา’ ที่เกิดขึ้นได้เสมอนะครับ และเราไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือ ‘สติ’ ของตัวเอง อย่าปล่อยให้หวั่นไหวไปกับอารมณ์ของตลาด

อย่างที่ปู่เคยพูดไว้ “ถ้าเราควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เราก็ควบคุมเงินของเราได้” ถ้านักลงทุนสาย VI อย่างเรา ๆ ยึดหลักการลงทุนแบบปู่ ก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่งเลยครับว่า เราจะสามารถเอาชนะในทุกสงครามการลงทุนได้

ปรับพอร์ตอย่างไรในภาวะสงคราม

ผมเขียนบทความเรื่องนี้ช่วงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของสมครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งสินทรัพย์อย่างหุ้น เริ่มปรับตัวลงมากขึ้นแต่ยังไม่ถือว่ารุนแรงนัก ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากสงครามลุกลามไปถึงตะวันออกกลางซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก

อาจส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง หรือความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรประเทศในตะวันออกกลางที่ให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสในการทำสงครามครั้งนี้ โดยเฉพาะอิหร่านที่ฮามาสยืนยันว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

หากสงครามลุกลาม ยืดเยื้อ หรือบานปลาย เป็นปัจจัยลบที่จะกดดันราคาน้ำมันให้เพิ่มสูงขึ้น และแน่นอนครับผลกระทบที่ตามมาคือเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และที่จะกระทบต่อไปเป็นโดมิโนก็คือ โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อคุมเงินเฟ้อซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของธนาคารกลางสหรัฐฯ และจะกระทบต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกให้ปรับตัวลดลงอีกครั้ง เหมือนปีที่แล้ว เมื่อเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยแบบหนักหน่วง สินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นก็ถูกเทขายออกมาอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์สงคราม ณ ตอนนี้ ผมยังมองว่า การปรับลดลงของราคาสินทรัพย์เสี่ยงไม่น่าจะรุนแรงเท่าปีที่แล้ว นอกจากสงครามจะรุนแรงขึ้นและประเทศที่เข้าร่วมสงครามเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ดังนั้น ในการกระจายสินทรัพย์ลงทุน ผมจึงแนะนำว่าให้ Safe Haven เป็นหลุมหลบภัยจากสงครามในตอนนี้ ซึ่งภายหลังการเปิดฉากโจมตีของทั้ง 2 ฝ่าย จะเห็นได้ว่าเงินลงทุนพากันไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและพันธบัตร

พันธบัตรตัวเลือกที่ใช่มากกว่าทองคำ

แม้ทองคำและพันธบัตรจะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยทั้งคู่ แต่ในมุมมองของผมเห็นว่า การลงทุนในพันธบัตรจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าทองคำ แม้ราคาพันธบัตรได้ปรับลดลงมาบ้างแล้ว แต่ด้วยผลตอบที่ยังอยู่ในระดับสูงประมาณ 4-5% จึงยังเป็นจัวหวะที่สามารถเข้าลงทุนได้

ในสถานการณ์ตอนนี้ ผมแนะนำว่า นักลงทุนควรขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นออกมาชั่วคราวก่อน และนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรแทนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้พอร์ตลงทุนมากขึ้น หากสงครามไม่ทวีความรุนแรงค่อยปรับพอร์ตอีกครั้ง ด้วยการกลับไปลงทุนในหุ้น แนวทางนี้น่าจะช่วยให้พอร์ตลงทุนของคุณรับมือกับสงครามได้

สำหรับการจัดพอร์ตลงทุนในหุ้น หากพิจารณาในแง่ภูมิภาคและศักยภาพการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ผมยังยกให้ตลาดหุ้นจีนและเวียดนามเป็นดาวเด่น ในสวนของเวียดนามนั้น เชื่อว่าปัจจัยสงครามไม่น่าจะกระทบมาถึงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามยังมีศักยภาพเติบโตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ที่สำคัญตั้งแต่ต้นปีมานี้ ตลาดหุ้นเวียดนามยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

ทางด้านตลาดหุ้นจีน พี่ใหญ่แห่งภูมิภาคเอเชีย แม้นักลงทุนหลายท่านอาจยังกังวลเกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน และภาระหนี้ของอุตสาหกรรมนี้ แต่ตลาดหุ้นจีนได้ปรับลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อปี 2564 มาประมาณ 40% แล้ว จึงเป็นจังหวะเข้าสะสมหุ้นจีนได้ ขณะที่เงินเฟ้อจีนไม่ได้สูงมากเหมือนเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ  นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีเงินอัดฉีดเศรษฐกิจได้อีกมาก

หรือหากใครยังกล้า ๆ กลัว ๆ หวั่นวิตกกับการลงทุนในภาวะสงคราม โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่อยู่ไกลหูไกลตา ไม่ได้ใกล้ชิดข้อมูลเหมือนการลงทุนในบ้านเรา การให้มืออาชีพช่วยดูแลความเสี่ยงในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

และ Global ETF ของ Jitta Wealth เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยคุณบริหารพอร์ตลงทุนและดูแลความเสี่ยง เพื่อให้คุณได้รับผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนยอมรับได้ โดยการกระจายความเสี่ยงลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ ทั้งหุ้น พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้เอกชน ภายใต้แผนการลงทุนแบบยืดหยุ่นที่มีให้เลือกถึง 3 แบบ

เมื่อโลกยังคงหมุนไป ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนก็หมุนตาม และบางครั้งก็ไปซุ่มรอเราอยู่ข้างหน้าแบบไม่รู้ตัว เมื่อ Risk is all around สิ่งที่เราทำได้ในฐานะนักลงทุนสาย VI ก็คือ การบริหารจัดการกับความเสี่ยงนั้น

และอีกหลักการลงทุนที่สำคัญคือ การหาข้อมูล ความรู้อยู่เสมอ เพื่อให้พร้อมเดินหน้าลงทุนและรักษาพอร์ตให้ปลอดภัยที่สุดไม่ว่าสถานการณ์รอบด้านจะเป็นอย่างไร เพราะในโลกของการลงทุน ไม่ได้มีแค่ความเสี่ยง แต่ยังมีโอกาสอยู่รอบตัวเราเช่นกัน.. ตั้งสติ แล้ว Stay Invest กันต่อไปนะครับ