เงินบาทอ่อนค่า จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า – ตัวเลขส่งออก ก.ย.

จับตาค่าเงินบาท
REUTERS/ Athit Perawongmetha

เงินบาททยอยอ่อนค่าลงตามภาพรวมสกุลเงินเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัย และการปรับตัวสูงขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ SET Index ปิดต่ำกว่า 1,400 จุด ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล และโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาหืหน้า ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย รวมถึงสถานการณ์ในอิสราเอล

วันที่ 22 ตุลาคม 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่า โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลงตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส

นอกจากนี้สัญญาณขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 5.00% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี) ก็เป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมที่กดดันค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีราคาทองคำในตลาดโลกที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นในระหว่างสัปดาห์ ช่วยชะลอกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทไว้บางส่วน

เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากท่าทีของประธานเฟดที่ยังคงกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แม้จะยอมรับว่า การขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินในช่วงที่ผ่านมา อาจลดความจำเป็นของการคุมเข้มทางการเงินต่อเนื่องของเฟดก็ตาม

ในวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 36.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (12 ต.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 16-20 ต.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,053 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 9,847 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 9,772 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 75 ล้านบาท)

Advertisment

สัปดาห์ถัดไป (23-27 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.10-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย รวมถึงสถานการณ์ในอิสราเอล

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE/Core Price Indices เดือนก.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 (advanced) ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม ECB และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษและสหรัฐฯ

ส่วนความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงหลุดแนว 1,400 จุด โดยภาพรวมหุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อนสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลจะยืดเยื้อ แม้ผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยจะยังจำกัดก็ตาม

Advertisment

นอกจากนี้ บรรยายกาศการลงทุนยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตลอดจนโอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และท่าทีของประธานเฟดที่มีความกังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งยังอยู่ในระดับสูง หุ้นไทยปรับตัวลงถ้วนหน้าในช่วงปลายสัปดาห์ นำโดย ไฟแนนซ์ เทคโนโลยี วัสดุก่อสร้าง และกลุ่มแบงก์

ในวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,399.35 จุด ลดลง 3.54% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,427.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.25% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 5.65% มาปิดที่ระดับ 407.88 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,390 และ 1,370 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,415 และ 1,440 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนก.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนต.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนี PCE/Core PCE Indice เดือนก.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนต.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนกำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ของจีน