กรุงไทย มองสงครามอิสราเอล-ฮามาส กดดันค่าเงินแกว่งตัวไร้ทิศทาง

ธนาคารกรุงไทย

ธนาคารกรุงไทย มองเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 36.20-36.85 บาทต่อดอลลาร์ จับตาสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส สร้างความไม่แน่นอนสูง ทำค่าเงินแกว่งตัวไร้ทิศทาง ชี้ปัจจัยเงินดอลลาร์-ราคาทองคำ-ราคาน้ำมันดิบ-ทิศทางค่าเงินฝั่งเอเชีย กดดันเงินบาทสูง

วันที่ 23 ตุลาคม 2566 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดการเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ามองกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้าวันที่ 24-27 ตุลาคม 2566 อยู่ที่ 36.20-36.85 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideway ไร้ทิศทางที่ชัดเจน ท่ามกลางสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ที่ผู้เล่นในตลาดกลัวว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน

โดยในส่วนของปัจจัยนโยบายการเงินเฟด ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ, อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และอัตราเงินเฟ้อ PCE โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐออกมาแข็งแกร่ง ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หรือคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงมากขึ้น ส่งผลให้เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทได้

นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยหาก ECB แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น พร้อมส่งสัญญาณจบรอบการขึ้นดอกเบี้ย และขณะเดียวกัน หากดัชนี PMI ของยูโรโซนออกมาแย่กว่าคาดด้วย ก็อาจกดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก และนอกเหนือจากปัจจัยสงคราม รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะจับตา รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 3 โดยหากผลประกอบการและคาดการณ์ผลกำไรออกมาสดใส ก็อาจช่วยให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาท ในส่วนของปัจจัยภายนอกนั้น เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของทั้งเงินดอลลาร์ ราคาทองคำ ราคาน้ำมันดิบ รวมถึงทิศทางค่าเงินฝั่งเอเชีย (จับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่นและเงินหยวนจีน) โดยตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ รวมถึงยุโรป ผลการประชุมของ ECB และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ก็อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้ ผ่านการเคลื่อนไหวของราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งจะกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐและเงินดอลลาร์ สำหรับปัจจัยในประเทศ ควรติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจยังมีความผันผวนอยู่ โดยฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ทั้งสัปดาห์วันที่ 16-20 ตุลาคม 2566 พบว่าขายหุ้นสุทธิ -4.0 พันล้านบาท และขายบอนด์สุทธิ (รวมยอดบอนด์ครบกำหนด) -9.8 พันล้านบาท

“ไฮไลต์ข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งสหรัฐ ตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี S&P PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาส 3 และอัตราเงินเฟ้อ PCE ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุม ECB และรายงานดัชนี PMI ของทั้งยูโรโซน รวมถึงอังกฤษ ทางฝั่งเอเชียและไทย ตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของญี่ปุ่น รวมถึงรายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของไทย

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะจับตาสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสและพันธมิตรอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ Amazon, Alphabet, Meta และ Microsoft เป็นต้น”