ตลท. เมิน “ห้ามชอร์ตเซล” เล็งยกระดับใช้เอไอตรวจจับความผิดปกติ

ภากร ปีตธวัชชัย

“ภากร” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย เมินใช้มาตรการห้ามทำธุรกรรมขายชอร์ตเซลหุ้นไทย เหมือนกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ชี้ติดตามข้อมูลทุกทรานแซกชั่นทั้ง “ชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรดดิ้ง” ยังไม่พบความผิดปกติ เล็งยกระดับใช้เอไอตรวจจับความผิดปกติ นำข้อมูลเปิดเผยให้นักลงทุนใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อใช้วิเคราะห์ในการตัดสินใจ

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีคณะกรรมการด้านบริการการเงินของเกาหลีใต้ (FSC) ออกมาตรการห้ามทำการขายชอร์ตหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในดัชนี KOSPI 200 Index และดัชนี KOSDAQ 150 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.2566 ไปจนถึงเดือน มิ.ย.2567

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีเหตุผลจะใช้มาตรการห้ามขายชอร์ตเซลเหมือนกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยมองว่าการจะปรับกลไก (mechanism) เรื่องการชอร์ตเซล หรือโปรแกรมเทรดดิ้ง รวมทั้งการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นด้วยความถี่สูง (High Frequency Trading: HFT) จะใช้ความเชื่อไม่ได้

จะต้องพิจารณาตามข้อมูลเป็นสำคัญว่าส่อให้เห็นพฤติกรรมที่คิดว่าเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน หรือส่งผลให้ตลาดมีความบิดเบือนไปจากความเป็นจริงหรือไม่

ทั้งนี้ต้องเน้นว่าการศึกษาเรื่องเหล่านี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯดำเนินการอยู่ตลอด และไม่ได้ดำเนินการเพียงผู้เดียว แต่ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยนำข้อมูลมาแปรียบเทียบกันอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมยังไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้

Advertisment

“เรามีการดูข้อมูลทุกวันและทุกทรานแซกชั่น และมีการสอบถามสมาชิกบริษัทหลักทรัพย์ ประเมินพฤติกรรมของนักลงทุน ตัวอย่างแสดงให้เห็นชัดเจนอย่างเรื่องการชอร์ตเซล ที่มักจะพูดว่ามี Naked Short Sell จากต่างประเทศ

แต่จากข้อมูลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีเพียง 1-2 เคสเท่านั้น แต่ปีนี้ยังไม่พบการกระทำผิด ซึ่งการทำ Naked Short Sellเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และขอย้ำว่าเราติดตามดูอยู่ตลอดเวลา และจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นแน่นอน” นายภากรกล่าว

ส่วนโปรแกรมเทรดดิ้งในปัจจุบันก็มีสัดส่วนต่อมูลค่าการซื้อขายประมาณกว่า 30% ของมูลค่าการซื้อขาย โดยสัดส่วนของ HFT มีสัดส่วนประมาณ 10% ซึ่งมีการตรวจสอบดูแลตลอด ยังไม่พบความผิดปกติ จึงอยากให้มั่นใจเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างจุลภาคของตลาดหลักทรัพย์ เพราะให้ความสำคัญมาก

“ที่ผ่านเราสิ่งที่เราทำคือตรวจจับ (detection) เคสต่าง ๆ ให้ได้เพื่อฟ้องร้อง ในอนาคตเราจะทำยิ่งกว่านั้นคือใช้เอไอ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาและให้ข้อมูลกับนักลงทุนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เช่น ตอนนี้หุ้นที่ชอร์ตมากสุดคือหุ้นอะไรใน 10 ชื่อแรก

Advertisment

ตอนนี้โปรแกรมเทรดดิ้ง 10 หุ้นมากสุด แต่จะไม่เป็นการบอกว่าทำผิด แต่เปิดเผยให้เห็นว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น นักลงทุนควรระวัง เพื่อวิเคราะห์ในการตัดสินใจ” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย กล่าว