ตลาดจับตา เงินเฟ้อสหรัฐ หาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางดอกเบี้ยเฟด

เงินดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: REUTERS/Dado Ruvic/

ตลาดจับตาเงินเฟ้อสหรัฐ หาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางดอกเบี้ยเฟด ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ คาดธนาคารกลางสหรัฐ จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ปี 2567

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/1) ที่ระดับ 36.02/04 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ (13/11) ที่ระดับ 36.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักลงทุนจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือน ต.ค.ในคืนวันนี้ (14/11) โดยผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวลงสู่ระดับ 3.3% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.7% ในเดือน ก.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI ทั่วไป จะปรับตัวลงสู่ระดับ 0.1% ในเดือน ต.ค. จากระดับ 0.4% ในเดือน ก.ย.

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าจะปรับตัวขึ้นที่ระดับ 4.1% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี และเมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน จะปรับตัวขึ้นที่ระดับ 0.3% ในเดือน ต.ค.

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ปี 2567 โดยระบุว่าศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะเผชิญภาะเศรษฐกิจถดถอย

Advertisment

ล่าสุดโกลด์แมน แซคส์ คาดว่า มีโอกาสเพียง 15% เท่านั้นที่เศรษฐกิจสหรัฐจะประสบภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 48% นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของสหรัฐจะขยายตัว 2.1% ในปี 2567 และคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาส 4/2567 เมื่อดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อลดลงต่ำกว่า 2.5%

การคาดการณ์ดังกล่าวของโกลด์แมน แซคส์ คล้ายคลึงกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แน สแตนลีย์ ซึ่งได้คาดการณ์ไว้ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2.5% ครั้งแรกในเดือน มิ.ย. 2567

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า เลขาธิการกฤษฎีกาได้รับเรื่องไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยจะพยายามเร่งให้ดำเนินการเร็วที่สุด

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง36.00-36.13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/11) ที่ระดับ 1.0694/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/11) ที่ระดับ 1.0688/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยนักลงทุนประเมินว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 อาจขยายตัวเพียง 0.1% เมื่อทียบรายปี ซึ่งถูกกดดันโดยภาวะเงินเฟ้อระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีทิศทางชะลอลง อาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.5% โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0693-1.0709 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0695/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/11) ที่ระดับ 151.73/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/11) ที่ระดับ 151.74/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนจับตาท่าทีของทางการญี่ปุ่น หลังจากที่เยนอ่อนค่าลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี

ทั้งนี้ การอ่อนค่าอย่างหนักของเยน ทำให้มีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจมีการเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการอ่อนค่าของเยน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.58-151.58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.70/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีจากสถาบัน ZEW (14/11), ดัชนีราคผู้บริโภค (CPI) เดือน ต.ค.ของสหรัฐ (14/11), ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacluning Index) เดือน พ.ย. จากเฟดนิวยอร์ก (15/11), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน (15/11), ยอดค้าปลีกเดือน ต.ค.ของจีน (15/11), ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐาน (Core Retal Salcs) สหรัฐ (15/11), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สหรัฐ (15/11), อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค.ของอังกฤษ (15/11), จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (16/11), ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือน ต.ค.ของสหรัฐ (16/11), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.ของสหรัฐ (16/11), ดัชนีการผลิต พ.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (16/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.3/-9.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.4/5.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ