ดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ แม้ยอดค้าปลีกปรับตัวลงต่ำกว่าคาด

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า
ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/11) ที่ระดับ 35.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/11) ที่ระดับ 35.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบหลังขาดปัจจัยใหม่สนับสนุน

โดยคืนวานนี้ (15/11) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 1.3% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.9% จากระดับ 2.2% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปปรับตัวลง 0.5% ในเดือนตุลาคม สวนทางจากคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ว่าจะปรับตัวขึ้น 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนกันยายน

ซึ่งการปรับตัวลงในเดือนตุลาคมของดัชนี PPI เมื่อเทียบรายเดือนนั้น เป็นการปรับตัวลงมากที่สุดเมื่อเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ส่วนดัชี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.7% และลดลงจากระดับ 2.7% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนตุลาคม หรือปรับตัวขึ้น 0.0% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.2% ในเดือนกันยายน

นอกจากนั้นทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกซึ่งปรับตัวลดลง 0.1% ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม หลังปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนกันยายน อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวยังอยู่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ -0.3% โดยยอดค้าปลีกในเดือนตุลาคมที่ปรับตัวลดลงนั้นได้รับผลกระทบจากการหดตัวของยอดขายรถยนตและเฟอร์นิเจอร์

แต่หากไม่นับรวมยอดขายรถยนตและน้ำมัน ตัวเลขยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% และทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) สูงกว่าคาด ทั้งนี้ เฟดสาขานิวยอร์ก รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตปรับตัวขึ้น 13.7 จุด สู่ระดับ +9.1 จุด ในเดือนพฤศจิกายน

ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -2.8 จุด และสูงกว่าระดับ -4.6จุด ในเดือตุลาคม นอกจากนี้ ดัชนีอยู่สูงกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังกล่าวระหว่างเข้าร่วมประชุมเอเปค ที่สหรัฐถึงกรณีมีการวิจารณ์การดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลนั้นไม่ตรงกับที่หาเสียงไว้ โดยกล่าวว่าทางรัฐบาลมีความตั้งใจจะดำเนินการโครงการนี้จริงและอยากให้ทุกฝ่ายตรวจสอบได้เนื่องจากหลายคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ รัฐบาลจึงดำเนินการให้มี พ.ร.บ.เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถตรวจสอบได้ สำหรับกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการดังกล่าว เมื่อดูเรื่องกฤษฎีกาแล้วว่ายังมีเวลาให้กฤษฎีกา ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องการกดดันว่าจะมีการประชุมเมื่อไหร่ แต่ขณะนี้ยืนยันว่า ยังคงอยู่ในระยะเวลาที่วางแผนไว้ ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.38-35.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.44/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/11) ที่ระดับ 1.0844/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/11) ที่ระดับ 1.0849/53 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ช่วงบ่ายวันนี้ (16/11) คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจของยูเครนจะฟื้นตัวในปีนี้และปีหน้า หลังปรับตัวลดลงในปี 2565 และมีการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจสำหรับสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูเครนจะขยายตัว 4.8% ในปี 2566 หลังจากลดลง 29.1% ในปี 2565 ส่วนในปี 2567 GDP ของยูเครนจะขยายตัว 3.7% จากนั้นจะเติบโต 6.1% ในปี 2568 ส่วนตัวเลขกรผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรปหดตัว 1.1% ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0828-1.0845 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0858/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/1) ที่ระดับ 151.16/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/11) ที่ 150.39/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวานนี้ (15/11) องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่นรายงานว่า ในเดือนตุลาคม มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าญี่ปุ่นมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 2.52 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวน 2.5 ล้านคน ในเดือนตุลาคม 2562 และการท่องเที่ยวขาเข้านั้นนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

โดยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 3/2566 สูงกว่าระดับก่อนช่วงโควิด เนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในไตรมาสที่ 3/2566 ซึ่งหดตัว 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายทางธุรกิจที่ลดลง การบริโภคที่ซบเซา และการส่งออกสุทธิที่ลดลง ดังนั้น การเติบโตของการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ อาจช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนที่ผ่านมา (15/11) ตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 3 ของญี่ปุ่นออกมาที่ระดับ -0.5% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ -0.1% โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.10-151.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.17/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (16/11), ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนตุลาคมของสหรัฐ (16/11), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมของสหรัฐ (16/11), ดัชนีการผลิตเดือนพฤศจิกายนจากเฟดฟิลาเดลเฟีย (16/11), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญตก่อสร้างเดือนตุลาคม

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.80/-8.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.80/-5.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ