เงินบาทแข็งโป๊ก แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง

ค่าเงินบาท-ธนบัตร-bank note
ภาพ : REUTERS

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง 35.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าผิดหวัง กระตุ้นให้ตลาดเชื่อมากขึ้นว่า วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟดอาจสิ้นสุดไปแล้ว จับตาปัจจัยสำคัญ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 สัญญาณเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ ก่อนการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐ ประกอบกับมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับเงินหยวนและสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ เผชิญแรงเทขายอย่างหนัก หลัง CPI ของสหรัฐ ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดมาก นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกก็เป็นแรงหนุนเพิ่มเติมของเงินบาทด้วยเช่นกัน

เงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ และทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ อย่างหนัก หลังจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์และดัชนีราคานำเข้าเดือน ต.ค. ของสหรัฐ ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด และกระตุ้นให้ตลาดมีความเชื่อมากขึ้นว่า เฟดอาจจบรอบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว

เงินบาท 19 พ.ย.

Advertisment

ในวันศุกร์ที่ 17 พ.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 35.89 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 พ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-17 พ.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,985 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 3,225 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 3,220 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 5 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (20-24 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 และตัวเลขการส่งออกเดือน ต.ค. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ของสกุลเงินในภูมิภาค

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ของธนาคารกลางจีน รวมถึงดัชนี PMI ขั้นต้นเดือน พ.ย. ของยูโรโซนอังกฤษ และสหรัฐ ด้วยเช่นกัน

หุ้นไทย 19 พ.ย.66

Advertisment

ส่วนความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,400 จุด หลังนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ ทั้งนี้หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบในช่วงแรก ก่อนจะดีดตัวขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ต.ค. ของสหรัฐ ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ตลาดประเมินว่า โอกาสที่จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดน้อยลง

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยกลับมาแกว่งตัวในกรอบแคบอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยจุดสนใจของตลาดอยู่ที่ประเด็นการขายชอร์ตที่ไม่มีการยืมหลักทรัพย์ (Naked Short Selling) ซึ่งกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อย อนึ่ง สัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลงสวนทางภาพรวมจากแรงขายหุ้นธนาคารรายใหญ่แห่งหนึ่ง

ในวันศุกร์ที่ 17 พ.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,415.78 จุด เพิ่มขึ้น 1.89% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 49,231.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.28% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.20% มาปิดที่ระดับ 402.44 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,405 และ 1,390 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,455 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงความกังวลของนักลงทุนรายย่อยเกี่ยวกับ Naked Short Selling

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ต.ค. ดัชนี PMI เดือน พ.ย. (เบื้องต้น) บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือน พ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตรดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือน พ.ย. ของจีน