“บัตรเครดิต” โหมปั๊มยอด อัดงบฯ จัดแคมเปญโค้งท้ายปี

debit

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี 2566 แล้ว ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจอาจดูไม่ค่อยดีนัก แต่ในมุมการบริโภคต้องบอกว่า ยังเติบโตได้ดี โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่งแถลงว่า การบริโภคในไตรมาส 3/2566 โตถึง 8.1%

ขณะที่ในไตรมาสสุดท้ายของปีนั้น ปกติก็จะเป็นช่วงที่การจับจ่ายสูงอยู่แล้ว จึงเป็นจังหวะของธุรกิจต่าง ๆ ที่จะโหมปั๊มยอดกันในช่วงนี้ รวมถึงธุรกิจบัตรเครดิต

บัตรเครดิตแข่งจัดแคมเปญ

โดย “อธิศ รุจิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน (GCS) และในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย (TBA) เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงที่เหลือของปีนี้ การแข่งขันจะยังคงรุนแรง เนื่องจากเป็นฤดูกาลใช้จ่ายผ่านบัตร ทำให้มีการจัดแคมเปญเพื่อกระตุ้นยอดการใช้จ่ายและการบริโภคของลูกค้า

ทั้งนี้ ในภาพรวมน่าจะยังคงเห็นยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร (spending) ขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) แต่อัตราการเติบโตน่าจะอยู่ในหลักเดียว หรือประมาณ 5-9% เนื่องจากฐานปีก่อนที่เติบโตค่อนข้างสูง ประกอบกับยังมีปัจจัยความไม่แน่นอน ทั้งสภาพเศรษฐกิจโดยรวม และการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ รวมถึงภาวะสงครามและค่าเงินบาท

“บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน ยังมีแผนขยายตัว โดยการจับมือพันธมิตร (partner) ในการจัดแคมเปญการตลาดร่วมกัน เพื่อรองรับการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ในส่วนของห้างสรรพสินค้า หมวดร้านอาหาร และการเดินทาง เช่น การแลกคะแนนสะสม การให้เครดิตเงินคืน (cash back) หรือส่วนลดต่าง ๆ เป็นต้น”

GCS ทุ่ม 200 ล้านอัดแคมเปญ

“อธิศ” กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมงบฯการตลาดในไตรมาส 4/2566 รวมกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งทั้งปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 8% สอดคล้องกับภาพรวมของระบบ และจากฐานปีก่อนที่เติบโตค่อนข้างสูง หรือมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรทะลุกว่า 1 แสนล้านบาท จากในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรแล้วกว่า 6-7 หมื่นล้านบาท

“เรายังคิดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรน่าจะยังเติบโตได้ เมื่อเทียบปีที่แล้ว แต่การเติบโตน่าจะเป็น single digit เพราะเทียบจากฐานที่สูงในปีก่อน และยังมีปัจจัย headwind อยู่ จึงเห็นการเติบโตไม่มากนัก โดยหากดูตัวเลขไตรมาสที่ 4/2565 ขยายตัว 17% มียอดใช้จ่ายอยู่ที่ 557,990 ล้านบาท

เมื่อเทียบไตรมาสที่ 4/2564 มียอดใช้จ่ายอยู่ที่ 493,505 ล้านบาท แต่เชื่อว่าทุกคนยังโหมการเติบโตอยู่ และชิงยอดใช้จ่ายอยู่ เพราะเป็นช่วงที่ผู้บริโภคจะออกมาจับจ่ายใช้สอย ทำให้ตลาดยังคึกคักอยู่”

KTC เน้นอัดโปรฯแลกคะแนน

ขณะที่ “ประณยา นิถานานนท์” ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 4/2566 น่าจะเห็นการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วงพีกอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี จากฐานที่สูงในปีก่อนอาจจะเห็นตัวเลขการเติบโตไม่ได้สูงมากนัก

โดยในส่วนของเคทีซีคาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรปีนี้น่าจะเติบโตได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ 10% โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวมไม่น้อยกว่า 2.65 แสนล้านบาท หลังจากในช่วง 9 เดือนแรกมีอัตราการเติบโตแล้วกว่า 13.7%

“ช่วงไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วงการใช้จ่ายจึงยังเห็นการแข่งขันการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดใช้จ่าย แต่กลยุทธ์แต่ละแห่งจะแตกต่างกันตามฐานลูกค้าของแต่ละที่ โดยเคทีซียังคงเน้นร่วมกับ partner ทำแคมเปญร่วมกัน เช่น หมวดร้านอาหาร น้ำมัน ท่องเที่ยวที่มีอัตราการเติบโต 60-70% และหมวดประกัน ซึ่งเป็นหมวดที่มียอดใช้จ่ายเป็นอันดับ 1 โดยเคทีซีจะมีการเพิ่มฟีเจอร์ 0% และผ่อนชำระได้ เพราะถือว่าเป็นวงเงินก้อนใหญ่”

สำหรับงบฯการทำตลาดบัตรเครดิตในไตรมาส 4 นี้ จะใช้เพิ่มจากไตรมาสอื่น ๆ ไม่มากนัก โดยยังคงเน้นการให้สิทธิประโยชน์ผ่านการใช้คะแนนสะสมเป็นหลัก รวมถึงมุ่งเน้นการตอบโจทย์ลูกค้า 2.6 ล้านใบ ให้ใช้บัตรสม่ำเสมอ (แอ็กทีฟ) และมียอดการใช้จ่ายต่อเนื่อง

“ไตรมาส 4 ยังคงเห็นโมเมนตัมของยอดใช้จ่ายต่อเนื่อง และเป็นช่วงที่ทุกคนออกมากระตุ้นยอดใช้จ่าย แต่การทำแคมเปญของแต่ละที่ก็แตกต่างกัน แต่ของเรายังใช้คะแนนสะสมเป็นเครื่องมือหลักในการทำการตลาด และหมวด interspending เป็นความหวังหนึ่งของยอดการใช้จ่ายปีนี้ เพราะคนนิยมออกไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น”

“อิออน” กระตุ้นอย่างระมัดระวัง

ด้าน “นันทวัฒน์ โชติวิจิตร” กรรมการบริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในไตรมาสสุดท้ายยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะปรับตัวดีขึ้น นอกจากเป็นฤดูกาลใช้จ่ายของผู้บริโภค และเดือน ธ.ค.เป็นช่วงวันหยุดยาว ประกอบกับนโยบายภาครัฐหากมีมาตรการแนว
ช้อปดีมีคืน จะยิ่งช่วยกระตุ้นยอดการใช้จ่ายให้เพิ่มขึ้น แต่โดยปกติอัตราการเติบโตในช่วงไตรมาสที่ 4/2566 จะขยายตัวได้กว่า 10%

ทั้งนี้ บริษัทจะออกแคมเปญกระตุ้นยอดใช้จ่ายโดยเฉพาะในช่วงเดือน ธ.ค. แต่งบฯที่ใช้จะลดลงราว 10% จากปีก่อน เนื่องจากต้องทำแคมเปญอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องของลดภาระหนี้ครัวเรือน การห้ามก่อหนี้
โดยไม่จำเป็น บริษัทจึงเน้นเรื่องของกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร เช่น หมวดไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ประกัน และน้ำมัน เป็นต้น