ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า นักลงทุนคาดเฟดยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ย

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า
ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 20-24 พฤศจิกายน ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (20/11) ที่ระดับ 35.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/11) ที่ระดับ 35.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า

ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9% สู่ระดับ 1.372 ล้านยูนิต สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.350 ล้านยูนิต ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1.1% สู่ระดับ 1.487 ล้านยูนิต นอกจากนี้ในวันอังคาร (21/11) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. โดยระบุว่า กรมการเฟดมีความเห็นตรงกันว่าเฟดควรจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง และอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหากข้อมูลทางเศรษฐกิจในอนาคตบ่งชี้ว่าภารกิจการควบคุมเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัว แต่ยังคงสูงเกินเป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างมาก

ดังนั้นจึงจำเป็นที่ธนาคารกลางสหรัฐต้องดำเนินนโยบายเข้มงวดต่อไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าเงินเฟ้อจะลดลงอย่างชัดเจน และในรายงานการประชุมไม่มีการส่งสัญญาณถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างที่นักลงทุนส่วนมากได้คาดการณ์ว่าในปีหน้าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยกว่า 1% โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในกรประชุมเดือน ธ.ค. 2566, ม.ค. 2567 และ มี.ค. 2567 ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน พ.ค. 2567 นอกจากนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า

ยอดขายบ้านมือสองลดลง 4.1% สู่ระดับ 3.79 ล้านยูนิตในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 5 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.90 ล้านยูนิต ต่อมาในช่วงคืนวันพุธ (22/11) กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกโดยปรับตัวลดลง 24,000 รายสู่ระดับ 209,000 ราย

ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนปรับตัวลดลงสู่ระดับ 51.3 จุดในเดือน พ.ย. ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ที่ 63.7 จุด และจากระดับ 63.8 จุดในเดือน ต.ค. โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงจากการพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ที่กดดันภาพรวมเศรษฐกิจ และสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

Advertisment

สำหรับปัจจัยในประเทศ ในวันจันทร์ (20/11) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3/2566 ขยายตัว 1.5% ชะลอลงจาก 1.8% ในไตรมาสที่ 2/2566 ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกรวมที่ชะลอตัวลง ในส่วนของภาคบริการขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐลดลงต่อเนื่องตามการลดลงของการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรค Covid-19 สำหรับการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศช.คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ประมาณ 2.5% ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวได้ 2.5% ในขณะที่ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7-3.7% ทั้งนี้การขยายตัวดังกล่าว ยังไม่ได้รวมผลจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาล

เนื่องจากต้องรอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนทั้งแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการ ตลอดจนความชัดเจนในประเด็นอื่น ๆ อาทิ รูปแบบกรใช้จ่าย

โดยขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตีความร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน นอกจากนี้นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการเปิดเผยว่า สิ่งจำเป็นและสำคัญของประเทศไทย คือ resilience ที่เป็นเรื่องความทนทาน และความยืดหยุ่น ที่เศรษฐกิจไทยเมื่อล้มได้ แต่ต้องลุกเร็ว

Advertisment

ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องเสถียรภาพ การมีกันชนต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งฐานะการเงินเอกชน ครัวเรือนและภาครัฐ การมีพื้นที่ทำนโยบาย หรือ Policy Space ทางด้านการเงินการคลัง การมีทางเลือกและต้องสร้างการเติบโตทางเทคโนโลยีแบบใหม่ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.025-35.515 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/11) ที่ระดับ 35.48/50 บาท/ดอลลาร์

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (20/11) ที่ระดับ 1.0910/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับเปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/11) ที่ระดับ 1.0865/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินยูโรแข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน

โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าเฟด โดยนายฟรองซัวส์ วิลเลอรอย สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของอีซีบีแตะระดับที่มีเสถียรภาพแล้ว ซึ่งอาจจะอยู่ที่ระดับดังกล่าวต่อไปในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้า ซึ่งเป็นการระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของอีซีบี นอกจากนี้ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะเริ่มประกาศชัยชนะในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อลดลงมากเกินคาดในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา

โดยดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือน ต.ค. ออกมาอยู่ที่ระดับ 2.9% เมื่อเทียบรายปี ลดลงจากระดับสูงสุดที่ระดับ 10.6% ในเดือน ต.ค. ปีก่อนหน้า ทำให้ตลาดคาดว่าการดำเนินการต่อไปของอีซีบีก็คือการลดอัตราดอกเบี้ย และอาจจะเกิดขึ้นในเดือน เม.ย. คริสติน ลาการ์ด จึงเน้นย้ำว่าไม่ควรใช้เพียงข้อมูลในระยะสั้นตัดสินว่าเงินเฟ้อมีการชะลอตัวกลับสู่กรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในช่วงสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคการบริการประจำเดือน พ.ย. ซึ่งออกมาสูงกว่าระดับคาดการณ์ โดยตัวเลขประมาณการณ์ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของเยอรมนีออกมาที่ระดับ 42.3 จุด สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 411 จุด

ขณะที่ตัวเลขประมาณการดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหภาพยุโรปออกมาที่ระดับ 43.8 จุด สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ระดับ 43.3 จุด โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0850-1.0964 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/11) ที่ระดับ 1.0917/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (20/11) ที่ระดับ 149.38/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/11) ที่ 149.43/46 เยน/0ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ นายคาซูโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น มีการแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันศุกร์ (17/11) ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Policy) จนกว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ได้อย่างยั่งยืน

โดยแม้ว่าปัจจุบันเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่การเพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นตามการเติบโตของค่าจ้าง ไม่ใช่การฟื้นตัวของอุปสงค์การใช้จ่ายภายในประเทศ โดยคนญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย และฝากเงินในธนาคารมากขึ้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 ยังหดตัวที่ 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส และหดตัวมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าจะติดลบเพียง 0.6% โดยรัฐบาลญี่ปุ่นมีการปรับลดมุมมองของเศรษฐกิจในเดือน พ.ย. เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ปรับลดมุมมองเกี่ยวกับการใช้จ่ายด้านทุนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 โดยระบุว่า อัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลง

ทั้งนี้รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวในระยะปานกลางต่อไป แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง อาทิ ปัจจัยเสี่ยงจากการคุมเข้มนโยบายการเงินทั่วโลก และเศรษฐกิจจีน และจำเป็นต้องให้ความสนใจใกล้ชิดกับราคาที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงิน ในช่วงปลายสัปดาห์ (24/11) รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารพุ่งขึ้น 2.9% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี

โดยเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 ส่วนดัชนี Core CPI ซึ่งไม่รวมทั้งราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหารสด เพิ่มขึ้น 4% ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.14-149.99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/11) ที่ระดับ 149.50/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ