จาก Green สู่ Blue Economy อีกหนึ่งกลไกสร้างโลกที่ยั่งยืน

ภาวะโลกร้อน
คอลัมน์ : Next Normal
ผู้เขียน : ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร EXIM BANK

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นทั่วโลกจริงจังกับการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ล่าสุด Net Zero Tracker ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกร่วมกับมหาวิทยาลัย Oxford

พบว่ามีกว่า 150 ประเทศทั่วโลกตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ระดับโลก (Forbes Global 2000) ที่ตั้งเป้าดังกล่าวถึงกว่า 1,000 แห่ง (ต.ค. 2566) เพิ่มขึ้นจากราว 700 แห่งในเดือนมิถุนายน 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 40% ในระยะเวลาเพียง 16 เดือนเท่านั้น

ที่ผ่านมากลไกที่เรามักได้ยิน และหลายภาคส่วนใช้เป็นแนวทางหลักในการบรรลุเป้าหมายข้างต้น คือ เศรษฐกิจสีเขียว (green economy) อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ผมอยากจะชวนมาพูดถึงอีกหนึ่งกลไกที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก และคาดว่าจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น คือ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (blue economy) ซึ่งมีความน่าสนใจในหลายประเด็น ดังนี้

– blue economy สำคัญอย่างไร หากสีเขียวทำให้เรานึกถึงผืนป่า สีน้ำเงินก็คงทำให้เรานึกถึงผืนน้ำและมหาสมุทรจริงไหมครับ ในเบื้องต้น blue economy มีหลักการคล้ายกับ green economy แต่จะเน้นไปที่การใช้ทรัพยากรทางทะเล
และชายฝั่งอย่างยั่งยืนเป็นหลัก

ซึ่งมหาสมุทรถือเป็นแหล่งการจ้างงานและแหล่งรายได้ของประชากรหลายล้านคนทั่วโลก โดย Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) คาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลของโลกจะสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 20 ปีก่อน

นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังพบว่ามหาสมุทรช่วยผลิตก๊าซออกซิเจนบนโลกมากถึง 50% ช่วยดูดซับความร้อนจากกิจกรรมมนุษย์ถึง 90% อีกทั้งยังช่วยดูดซับก๊าซ CO2 กว่า 25% อีกด้วย เหตุผลดังกล่าวทำให้การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกลายเป็นเป้าหมายที่ 14 (Life Below Water) ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของ UN

– ทำอย่างไรถึงจะผลักดัน blue economy นอกจากพวกเราทุกคนจะต้อง “ลงแรง” ช่วยกันรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างจริงจังมากขึ้นแล้ว อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือ “เงินทุน” เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากร

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินจาก OECD พบว่าเป้าหมายที่ 14 ของ SDGs ที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับ blue economy เป็นเป้าหมายที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนน้อยที่สุดในบรรดา 17 เป้าหมาย โดย World Economic Forum (2022) คาดว่าหากจะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนที่ 14 ในปี 2573 ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงราว 175 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

แต่ในช่วงปี 2558-2562 มีเงินลงทุนจริงไม่ถึง 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เท่ากับว่ามี GAP มากถึงเกือบ 165 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 1 ใน 3 ของ GDP ไทยเลยทีเดียว

– blue bond ต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อช่วยปิด GAP ดังกล่าว ปัจจุบันจากงานวิจัยของ Columbia University พบว่าแม้อัตราการขยายตัวของ blue bond ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) จะขยายตัวถึง 92% ต่อปี (CAGR) แต่หากพิจารณาในแง่มูลค่าตลาดที่ราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.5% ของตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทั้งหมด ถือว่ายังเล็กมากเมื่อเทียบกับ green bond ที่มีส่วนแบ่งกว่า 50%

ทั้งนี้ ตั้งแต่สาธารณรัฐเซเชลส์ ออก blue bond ครั้งแรกปี 2561 ก็มีการออก blue bond ในโลกเพียง 26 ฉบับ (ข้อมูลจาก Columbia University ณ สิ้นปี 2565) จนหลายคนกล่าวว่าปัจจุบันตลาด blue bond ยังอยู่ในระดับเดียวกับตลาด green bond เมื่อ 10 ปีก่อนเท่านั้น

โดยที่ผ่านมาสาเหตุที่ blue bond ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก อาจเป็นเพราะยังไม่มีมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แต่ล่าสุดตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ International Finance Corporation (IFC) ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งจัดทำ Guidelines for Blue Finance ขึ้น เราก็เริ่มเห็นผู้เล่นภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น หลังก่อนนี้กว่าครึ่งของ blue bond เป็นการออกโดยองค์กรระหว่างประเทศหรือรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่

– ไทยจำเป็นต้องพัฒนา blue economy หรือไม่ เศรษฐกิจไทยพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอยู่ไม่น้อย จากรายงาน National State of Oceans and Coasts ปี 2563 พบว่า blue economy ของไทยมีสัดส่วนถึงราว 30% ต่อ GDP และจ้างงานถึง 26% ของการจ้างงานรวม

โดยหลายธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับ blue economy ล้วนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการประมง การท่องเที่ยว การขนส่งทางทะเล พลังงาน ตลอดจนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย หรือแม้แต่โครงการแลนด์บริดจ์ ก็ล้วนเกี่ยวโยงกับ blue economy แทบทั้งสิ้น

คงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งสร้างการรับรู้และพัฒนา blue economy ผสมผสานไปกับกลไก green economy ที่มีอยู่เดิมอย่างไร้รอยต่อ ในส่วน EXIM BANK ก็ได้ให้ความสำคัญกับ blue economy โดยเฉพาะการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจโรงแรมและพาณิชยนาวีที่สอดรับกับ blue economy ขณะที่เร็ว ๆ นี้ EXIM BANK ก็มีแผนจะออก blue bond ครั้งแรกอีกด้วย มาร่วมกันสร้างเศรษฐกิจไทยให้โตไปพร้อมกับรักษาท้องทะลสีครามของเรากันนะครับ