แจกเงินช่วยชาวนาไร่ละ 1000 บาท ยอดโอนพุ่ง 4 หมื่นล้าน ชาวนาเมินสินเชื่อข้าว ธ.ก.ส.

ชาวนา-สหกรณ์เมิน “สินเชื่อ” โครงการชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 44,000 ล้านบาท เหตุเงื่อนไขเข้าร่วมโครงการยุ่งยาก ต้องมีหลักประกันการกู้ ยุ้งฉางต้องแข็งแรง แห่ขายข้าวให้โรงสีหลังราคาข้าวในตลาดสูงกว่าวงเงินสินเชื่อต่อตัน ด้านนายกชาวนาแจ้ง ข้าวถูกขายไปอยู่ที่โรงสีหมด ชาวนาเลือกรับทรัพย์ตันละ 1,000 บาท ธ.ก.ส.แจ้งยอดโอนไม่กี่วันปาเข้าไป 44,000 ล้านบาท

มาตรการดูแลราคาข้าวในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งไม่มีทั้งโครงการจำนำข้าว โครงการประกันรายได้ การรับจำนำที่ยุ้งฉาง แต่ได้กำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกด้วยวิธีการให้ “สินเชื่อ” เพื่อชะลอการขายข้าวและรวบรวมข้าว รวมไปถึงการจัดทำโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการไร่ละ 1,000 บาท ทุกมาตรการล้วนอาศัยแหล่งเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยรัฐบาลได้ “kick off” มาตรการดูแลราคาข้าวทั้งหมดแล้ว ผลการดำเนินการ ปรากฏการให้สินเชื่อไม่ได้รับการตอบรับจากชาวนาน้อยมาก ขณะที่โครงการจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท มียอดการโอนเงินให้ชาวนาสูงสุด

สินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือก

คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการดูแลราคาข้าว ด้วยการกำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2566/67 โดยแบ่งออกเป็น 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 กับโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2566/67 วงเงินรวม 55,038.96 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 44,437 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 10,601.96 ล้านบาท

โดยโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี กำหนดให้ ธ.ก.ส.จ่ายสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพื่อ “ชะลอ” ข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก กำหนดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการและวงเงินสินเชื่อต่อตัน ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 12,000 บาท, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 10,500 บาท, ข้าวเปลือกปทุมธานีตันละ 10,000 บาท, ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 10,000 บาท

มีค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตรา 1,500 บาท/ตันข้าวเปลือก สำหรับเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางของตนเอง ส่วนสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,000 บาท 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2566/67 กำหนดวงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาทจาก ธ.ก.ส. หรือคิดเป็นข้าวเปลือก 1 ล้านตัน ให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 (ปัจจุบัน MLR ร้อยละ 5.875/ปี) แบ่งเป็นสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 รัฐบาลรับภาระ “ชดเชย” ดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85/ปี

ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2566/67 จะให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ส่งไปให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท จะใช้วงเงินงบประมาณจำนวน 56,321.07 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกรจากแหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. วงเงิน 54,336.14 ล้านบาท กับค่าใช้จ่ายดำเนินการของ ธ.ก.ส. วงเงิน 1,984.93 ล้านบาท (ชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส.ในอัตราร้อยละ 3.61)

ยอดจ่ายไร่ละพันพุ่งพรวด

สำหรับผลการดำเนินมาตรการดูแลราคาข้าวทั้ง 3 โครงการ นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า มีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 1 ล้านราย ประกอบด้วยเกษตรกร 400,000 ราย และสมาชิกสหกรณ์การเกษตรอีก 600,000 ราย ได้แก่

1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและช่วยให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก และราคาตกต่ำ วงเงิน 34,437 ล้านบาท กำหนดชำระคืนภายใน 5 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย (รัฐบาลรับภาระจ่ายแทน) เพื่อดูดซับปริมาณข้าวเปลือกจากท้องตลาด 3 ล้านตัน โดยมีชนิดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว

และ 2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2566/67 เพื่อสนับสนุนสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ได้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับภาระชำระแทน เป้าหมายรวบรวมปริมาณข้าวเปลือก 1 ล้านตัน ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 กันยายน 2567

“ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้จ่ายสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2566/67 ไปแล้ว 303 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปี 2566/67 ไปแล้วกว่า 877 ล้านบาท ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2566/67 หรือโครงการจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท (รวม 5 งวด) นั้น ทาง ธ.ก.ส.อัพเดตตัวเลขล่าสุด ปรากฏได้โอนเงินให้เกษตรกรไปแล้ว 3.82 ล้านราย คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 44,000 ล้านบาท” นายฉัตรชัยกล่าว

เทขายข้าวดีกว่าเก็บเข้ายุ้ง

ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2566/67 แม้จะเป็นโครงการที่ดี แต่เงื่อนไข-ขั้นตอนในการเข้าร่วมยังซับซ้อนและยุ่งยาก ส่งผลให้ชาวนาและสถาบันเกษตรกร-สหกรณ์ส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชาวนา” ยิ่งไม่เข้าร่วม เพราะตอนนี้ข้าวราคาดีเฉลี่ย ข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 12,000-13,000 บาท/ตัน ชาวนาจึงนำข้าวไปขายดีกว่าที่จะมาชะลอการขายหรือนำข้าวเข้าร่วมโครงการ

“ตอนนี้ชาวนาไม่มีข้าวอยู่ในมือแล้ว ส่วนใหญ่ขายออกไปจนหมด ในพื้นที่ภาคกลาง-เขตชลประทานก็เริ่มปลูกข้าวนาปรังกันแล้ว สหกรณ์การเกษตรเท่าที่สำรวจก็ไม่มีใครเข้าร่วมโครงการ เพราะตัวสหกรณ์มีศักยภาพไม่เพียงพอในการรับซื้อข้าว บางแห่งก็ไม่มีโรงอบที่จะเก็บข้าว มีเพียงลานตากข้าวเท่านั้น ดังนั้นโครงการของรัฐบาลที่ทำออกมา ผู้เข้าร่วมโครงการถือว่าไม่มี” นายปราโมทย์กล่าว (สะท้อนผ่านรายงานการให้สินเชื่อของ ธ.ก.ส.อยู่ในวงเงินแค่ 300-800 ล้านบาทเท่านั้น)

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ข้าวมีราคาดีหรือ “เกินกว่า” วงเงินสินเชื่อชะลอการขายข้าวต่อตันนั้น เป็นเพราะ “อินเดียยังชะลอการส่งออกข้าว ราคาข้าวไทยยังแข่งกับข้าวเวียดนามได้ โดยเฉพาะราคาข้าวขาวเวียดนามสูงกว่าข้าวขาวไทย ส่วนต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนาขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 5,500 บาท/ไร่ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาปุ๋ยที่ลดลง” นายปราโมทย์กล่าว

ชาวนา-สหกรณ์เข้าไม่ถึง

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2566/67 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่ “ซับซ้อนและยุ่งยาก” จนไม่มีชาวนาเข้าร่วมนั้น ประกอบไปด้วยวงเงินที่จะให้เกษตรกรรายละไม่เกิน 300,000 บาท, สหกรณ์การเกษตร/ชุมนุมสหกรณ์แห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท, กลุ่มเกษตรกรกลุ่มละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชน/ศูนย์ข้าวชุมชน กลุ่มละไม่เกิน 5 ล้านบาท มีระยะเวลาคืนเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 เดือนนับถัดจากเดือนรับเงินกู้ มีระยะเวลาการผ่อนชำระภายใน 5 เดือนนับถัดจากเดือนรับเงินกู้ โดยรัฐบาล “ชดเชย” ดอกเบี้ยแทนผู้กู้ตลอดระยะเวลาโครงการ (ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2567) กรณีผิดนัดชำระคิดดอกเบี้ยปรับร้อยละ 3 นับจากวันครบกำหนด

นอกจากนี้ยังต้องมี “หลักประกันการกู้” โดยเกษตรกรใช้การค้ำประกันแบบรับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันเป็นหลักประกันเงินกู้ ส่วนสถาบันเกษตรกรใช้คณะกรรมการของแต่ละสถาบันค้ำประกัน ต้องมีการทำประกันภัยที่ลูกค้าจำเป็นต้องทำ และที่สามารถเลือกทำได้ กรณีสถาบันเกษตรกรต้องทำประกันภัยวินาศภัย โดยทุนประกันครอบคลุมวงเงินกู้ตลอดอายุสัญญา และที่สำคัญผู้กู้จะต้องมี “ยุ้งฉาง” ที่มั่นคงแข็งแรงในการเก็บรักษาข้าวเปลือกตลอดระยะเวลาของโครงการด้วย