“ประกันพ้นบ่วงโควิด” พลิกกำไร เป้าปี 2567 กวาดเบี้ยทะลุ 3 แสนล้าน

ประกันรถ

ปี 2566 นี้ เป็นปีที่ผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยพลิกฟื้นกลับมาจากวิกฤตโควิด-19 ที่หลายบริษัทมีอันต้องล้มลงไป ขณะที่ทิศทางปี 2567 อาจจะเป็น “ปีทอง” โดยเบี้ยประกันมีโอกาสทะลุ 3 แสนล้านบาทได้

ล่าสุด “สมพร สืบถวิลกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) ได้แถลงถึงผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2566 และคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตปี 2567

ธุรกิจพลิกฟื้นพ้นบ่วง “โควิด”

“สมพร” กล่าวว่า ปีนี้คาดการณ์ว่าถึงสิ้นปีธุรกิจประกันวินาศภัยในภาพรวมจะมีกำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) เกินระดับ 20,000 ล้านบาท หลังจากช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) มีกำไรแล้ว 17,677 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนเมื่อช่วงเดียวกันปีที่แล้ว (YOY) 39,425 ล้านบาท เรียกได้ว่ามีกำไรพลิกฟื้นขึ้นจากวิกฤตโควิดแล้ว

โดยสามารถทำกำไรจากการรับประกันภัย 13,284 ล้านบาท พลิกจากเมื่อช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ขาดทุน 52,710 ล้านบาท มีรายได้จากการลงทุน 5,992 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 25.35% YOY

“คาดการณ์ว่าปิดสิ้นปีจะมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 285,080-287,800 ล้านบาท เติบโต 4-5% YOY โดยการประกันภัยแทบทุกประเภทมีแนวโน้มเติบโตที่ดี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่พยายามเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลดีต่อการประกันภัย”

ประกัน “รถอีวี” เบี้ยพุ่งสูง

ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนแรกมีเบี้ยรับรวมเข้ามาแล้ว 210,141 ล้านบาท เติบโต 5.2% โดยพอร์ตประกันรถยนต์ถือเป็น Main Engine มีเบี้ยรับรวม 118,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% มาจากการเพิ่มขึ้นจากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปที่ผ่านมา รถอีวีจีนมียอดขายเป็นอันดับ 2 ของยอดขายรวม ทำให้จำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ประกันภัยกลับสู่ภาวะปกติ

รวมถึงผลกระทบจากเบี้ยประกันภัย เฉลี่ยต่อกรมธรรม์ของประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจของรถยนต์สันดาปที่มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย ซึ่งเกิดจากการที่ประชาชนกลับมาใช้รถตามปกติ หลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด ทำให้อัตราการเคลมสินไหม (Loss Ratio) สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสนับสนุนให้เบี้ยประกันรถยนต์ในปีนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่พอร์ตเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด 78,630 ล้านบาท เติบโต 4.6% โดยเพิ่มขึ้นจากการประกันภัยทรัพย์สิน (IAR) ที่มีเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นมาก อยู่ที่ 25,884 ล้านบาท เติบโต 16.1% เนื่องจากเบี้ยประกันภัยต่อปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะตลาดแข็งตัว (Hard Market) ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอาจยังมีผลกับการต่อสัญญาประกันภัยต่อในปีถัดไปบางส่วนด้วย

และพอร์ตเบี้ยประกันอัคคีภัย 7,762 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% ตามมูลค่าการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรก แต่พอร์ตเบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง (มารีน) มีเบี้ยรับรวม 5,330 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.6% YOY จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าติดลบ

“9 เดือนแรกปีนี้ อัตราเคลมสินไหมโดยรวมอยู่ที่ระดับ 54.5% เคลมประกันรถยนต์ 59.4%, เคลมประกันอัคคีภัย 23.6%, เคลมประกันมารีน 32.9% ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม ส่วนเคลมประกันเบ็ดเตล็ดลงมาอยู่ที่ 47.1% เทียบ YOY ถือว่าลดลงอย่างมากจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีการระบาดของโควิด แต่บริษัทประกันไม่ได้มีการรับประกันโควิดแล้ว”

กราฟฟิกประกัน

ปี’67 เบี้ยทะลุ 3 แสนล้าน-อีวีหนุน

สำหรับแนวโน้มเบี้ยรับรวมในปี 2567 “สมพร” กล่าวว่า คาดการณ์เบี้ยจะเพิ่มขึ้น 5-6% ไปอยู่ที่ 301,050-303,900 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากยอดขายรถอีวีที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยแรงสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งอาจทำให้ยอดขายรถอีวีทะลุ 100,000 คัน

บวกกับพอร์ตประกันสุขภาพคาดเติบโต 10.5-11.5% ตามอัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาล (Medical Inflation) ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันสุขภาพ และส่งผลให้เบี้ยปรับตัวสูงขึ้นในทุกปี ๆ

รวมทั้งประกันการเดินทางคาดเติบโต 9-10% ตามคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้มากกว่า 28 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบปีก่อนหน้า และคาดว่าส่งผลให้ปีหน้าเบี้ยส่วนนี้จะมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง

ลุ้นประกันพืชผล 2.2 พันล้าน

ขณะที่โครงการประกันพืชผล (ข้าวนาปี, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) มีแนวโน้มจะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะเพิ่มประกันภัยมันสำปะหลังเข้ามาร่วมด้วยเป็นปีแรก ซึ่งคาดว่าจะมีเบี้ยรับรวมทั้งโครงการประมาณ 2.2 พันล้านบาท จากที่ปี 2566 ครม.ไม่ได้อนุมัติโครงการประกันภัยข้าวนาปี ทำให้เบี้ยส่วนนี้หายไปราว 2 พันล้านบาท

เค้กก้อนใหม่ค่าเหยียบแผ่นดิน

“นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย” กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐในการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่านช่องทางอากาศในอัตรา 300 บาทต่อคนต่อครั้ง และผ่านช่องทางบกและทางน้ำในอัตรา 150 บาทต่อคนต่อครั้ง ซึ่งสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยมีนโยบายนำค่าธรรมเนียมบางส่วนมาซื้อประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยว

โดยเป็นการคุ้มครองส่วนเพิ่มจากการประกันภัยตามที่กฎหมายบังคับ เน้นคุ้มครองสุขภาพและอุบัติเหตุ ให้ความคุ้มครองสูงสุด 1 ล้านบาทต่อคนนั้น ขณะนี้สมาคมอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมเรื่องการรับประกัน และการจัดทำร่างกรมธรรม์และอัตราเบี้ยที่เหมาะสม รวมไปถึงการจัดเตรียมระบบเรียกร้องและตรวจสอบค่าสินไหมทดแทน

“กำลังจัดหาบริษัทมาทำหน้าที่บริหารจัดการค่าสินไหม ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องใช้ Third Party Administration เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว”