นายกฯถกญี่ปุ่นอุ้มรถสันดาป รับมือ EV จีนผงาด กินส่วนแบ่ง 38%

นายกฯเศรษฐาจัดทัพเยือนญี่ปุ่น ปลุกลงทุนโค้งสุดท้ายถกซีอีโอค่ายรถ เดินหน้ามาตรการส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์สันดาปแห่งสุดท้าย บีโอไอเตรียมรับฟังข้อเสนอค่ายรถ เร่งอัพเกรดแพ็กเกจลงทุนรักษาฐานผลิต เอกชนญี่ปุ่นชงหนุนส่งเสริม “ไฮบริด” โตโยต้า-อีซูซุ ยันลดมลพิษไม่ใช่แค่ EV กระแส EV จีนแรงจัดครองแชร์ในงาน Motor Expo 38% เผย 3 ค่ายจีนติด TOP 5 รถขายดีที่สุด ดันยอดจดทะเบียนอีวี 11 เดือนทะลุ 6.6 หมื่นคัน

เศรษฐานัดถกค่ายรถญี่ปุ่น

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกำหนดการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 2566 ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ว่า นายกฯจะไปหารือกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นทุกค่าย โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แม้รัฐบาลจะมีนโยบายที่สนับสนุนรถยนต์อีวี แต่เราจะไม่ทิ้งรถยนต์สันดาป โดยรัฐบาลจะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนสนับสนุนให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์สันดาปแห่งสุดท้าย

เพราะแม้โลกจะหันมาใช้รถยนต์อีวีมากขึ้น แต่รถยนต์สันดาปยังไม่ได้หายไปหมดในทันที ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากซัพพลายเชนต่าง ๆ อีกทั้งค่ายรถยี่ปุ่นก็ไม่ได้มีเฉพาะรถสันดาป แต่ยังมีรถยนต์ Hybrid รวมถึงรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ ขณะเดียวกันยังมีบริษัทผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวีของญี่ปุ่น ซึ่งสนใจมาลงทุนในประเทศไทยด้วย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อบริษัทได้

นอกจากนี้ นายกฯจะหารือกับบริษัท คูโบต้า ที่จะมาช่วยทำวิจัยเรื่องการพัฒนาผลผลิตด้านการเกษตร ตามนโยบายของรัฐบาล และมีแผนที่จะเชิญชวนให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Green Economy และ Digital Economy โดยเฉพาะด้าน AI ให้มาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีเอกชนของญี่ปุ่นสนใจมาลงทุนที่ประเทศไทย

จ่ออัพเกรดมาตรการสันดาป

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในโอกาสจะเดินทางร่วมคณะนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง (เศรษฐา ทวีสิน) เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 2566 นี้ มีกำหนดการทั้งจัดสัมมนาใหญ่ด้านการลงทุน ที่จะมีการพบหารือบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ซึ่งหนึ่งในนั้นจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมกันนี้จะมีการพบผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลและองค์กรพันธมิตรของญี่ปุ่น และการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น

นายนฤตม์กล่าวว่า การรักษาความเป็นฐานการผลิตรถสันดาปอาจจะต้องมีการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม จากที่บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเมื่อเดือน พ.ย. 66 ให้สิทธิภาษีกับกิจการผลิตรถทั้งรถสันดาปและ EV ที่มีการลงทุนใช้ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ มาปรับปรุงประสิทธิภาพสายการผลิต ครอบคลุมทั้งแบบสันดาปภายใน ไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด ครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและการลงทุนใหม่

ส่วนมาตรการอื่น ๆ ที่จะสนับสนุนรถยนต์ ICExEV นั้น BOI กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสม โดยจะรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น

เพิ่มสิทธิภาษีปรับไลน์ผลิต

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้ออกมาตามมติบอร์ดบีโอไอ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธานได้รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี วงเงินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และในกรณีที่ใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในวงเงินร้อยละ 100 ของเงินลงทุนในระบบดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567

“อุตสาหกรรมยานยนต์มีผู้ผลิตในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีมากกว่า 2,300 ราย โดยปี 2565 ไทยผลิตรถยนต์มากถึง 1.9 ล้านคัน เป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก ซึ่งขณะนี้กำลังก้าวสู่ช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน” นายนฤตม์กล่าว

นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวเข้ามาด้วยว่า ในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปัจจุบันยังอยู่ในเวอร์ชั่น 3.0 นั้น มีการเตรียมเวอร์ชั่นใหม่ หรือ EV 3.5 ไปหารือกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่สนใจด้วย เนื่องจาก EV 3.5 จะมีการใช้แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป CBU ที่นำเข้าและที่ผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ขณะที่ EV 3.0 ไม่ได้ผูกเรื่องเหล่านี้ไว้

EV ผงาดกินแชร์ในงาน 38.4%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2023 ที่เพิ่งปิดฉากไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 13 วัน (29 พ.ย.-11 ธ.ค.) ปรากฏว่า มียอดจองรถยนต์ในงาน 53,248 คัน และจักรยานยนต์ 7,373 คัน

นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน MOTOR EXPO 2023 เปิดเผยว่า โดยข้อมูลจากผู้ร่วมกิจกรรม “ซื้อรถ…ชิงรถ” พบว่า มีผู้ร่วมกิจกรรมสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 22.4% โดยเป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป 61.6% และเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 38.4%

โดยยอดจองสูงสุด 10 อันดับแรกในงาน ได้แก่ โตโยต้า 7,245 คัน, ฮอนด้า 6,149 คัน, บีวายดี 5,455 คัน, AION จำนวน 4,568 คัน, MG 3,568 คัน, ฉางอาน 3,549 คัน, เกรท วอลล์ มอเตอร์ 3,524 คัน, อีซูซุ 2,460, นิสสัน 2,459 คัน และมาสด้า 1,961 คัน สำหรับประเภทรถที่ได้รับความสนใจ สูงสุด คือ กลุ่ม SUV 57.3% รถเก๋ง 18.3% รถฟาสต์แบ็ก 10.4% รถกระบะ 9.5% และอื่น ๆ 4.5% ขณะที่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ซื้อเข้าร่วมกิจกรรม “ซื้อมอเตอร์ไซค์…ชิงบิ๊กไบก์” สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ YAMAHA, LAMBRETTA และ EM

“สำหรับราคาเฉลี่ยของรถที่ขายได้ในงานประมาณ 1.3 ล้านบาท รถจักรยานยนต์เฉลี่ยเกือบ 2 แสนบาท และมีเม็ดเงินหมุนเวียนในงานประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท ผู้เข้าชมงาน 1.5 ล้านคน”

ยอดบุ๊กกิ้ง

EV ทำยอดผลิตวูบแสนล้าน

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากการรุกคืบเข้ามาของค่ายรถจีน โดยเฉพาะรถ EV จีนที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปมากกว่า 10% ซึ่งปัจจุบันเป็นการนำเข้าเกือบทั้งหมด ทำให้กระทบกับผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเชนในประเทศไทย ทั้งนี้ แม้ว่ารถ EV จีนที่เข้ามาทำตลาดในไทยภายใต้มาตรการอุดหนุนต่าง ๆ มีเงื่อนไขที่ตกลงกับบีโอไอจะต้องผลิตชดเชย แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกเป็นปี ดังนั้นหากรัฐบาลไม่กลับมาสนับสนุนในกลุ่มสันดาปบ้าง ก็น่าจะทำให้ประเทศสูญเสียเม็ดเงินไปไม่น้อย

“ปีนี้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ปรับเป้าการผลิตลงประมาณ 5-7 หมื่นคัน ก็เท่ากับเม็ดเงินหายไปเกือบแสนล้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า แม้ว่าเทรนด์ของโลกยานยนต์จะมุ่งไปสู่รถ EV แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการลดปริมาณคาร์บอนยังมีพลังงานทางเลือกอีกมากมาย ดังนั้นหากรัฐบาลหันมาสนับสนุนหรือส่งเสริมรถยนต์ประเภทไฮบริดอย่างจริงจัง ก็น่าจะเป็นทางออกและดูแลกลุ่มรถสันดาปไปพลาง ๆ ได้ เพราะโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ที่จะเริ่มในปี 2569 ก็มุ่งเน้นส่งเสริมรถ EV และให้แรงจูงใจเฉพาะรถยนต์ “ปลั๊ก-อิน ไฮบริด” เท่านั้น

ค่ายรถญี่ปุ่นชงหนุน “ไฮบริด”

“แต่เรายังเชื่อว่ารถไฮบริดจะเป็นสะพานเชื่อมเพื่อก้าวไปสู่ EV อย่างเต็มตัว ถ้ารัฐบาลต้องการสนับสนุนกลุ่มรถไฮบริดจริง ก็ต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อรักษาระบบซัพพลายเชนรถสันดาป โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วน ตั้งแต่โรงงานผลิตเครื่องยนต์ ท่อไอเสีย ถังน้ำมัน หม้อน้ำ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ เพราะรถกลุ่มไฮบริดมีเครื่องยนต์สันดาปภายในทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถรักษาซัพพลายเชนทั้งระบบได้”

อีกเรื่องที่กลุ่มรถสันดาปยังรู้สึกว่าเสียเปรียบรถจีน คือค่ายญี่ปุ่นยังมีกรอบข้อตกลงทางการค้าอยู่ ปัจจุบันภาษีนำเข้ารถยนต์ระหว่างไทย-จีนเป็นศูนย์ ขณะที่ไทย-ญี่ปุ่น ภาษีตามกรอบ JTEPA อยู่ที่ 20% รวมถึงมีเงื่อนไขรายละเอียดปลีกย่อย นอกจากนี้ อยากให้นำเรื่องค่ามลพิษมาพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะถ้าพิจารณากันตลอดกระบวนการผลิต การปล่อยมลพิษของรถยนต์ไฟฟ้ามีสูงกว่าก็น่าจะต้องเสียภาษีตรงนี้ด้วย

ก่อนหน้านี้ นายฮิเดโอะ คาวาซากะ ประธาน บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล จำกัด เคยระบุว่า การผลิตรถยนต์ถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับประเทศไทย มีมูลค่าสูงถึง 11% ของ GDP อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญ พยายามสะท้อนไปยังภาครัฐให้เห็นถึงความสำคัญตรงนี้ ประเทศไทยมีซัพพลายเชนของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป และมีความแข็งแกร่งมายาวนาน

โตโยต้า-อีซูซุลดมลพิษไม่มีแค่ EV

ก่อนหน้านี้ นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากเข้าพบนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ไปก่อนหน้านี้ ได้มีการหารือในส่วนของ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ประเทศไทยยังมีความต้องการใช้รถยนต์ที่มีพลังงานหลากหลาย ไม่เฉพาะเเต่รถ EV และ 2.รถยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย คือ กลุ่มรถปิกอัพ และอีโคคาร์ ที่ยังคงมีความต้องการและใช้งานค่อนข้างสูง

“โตโยต้าไม่ต้องการสร้างความแปลกเเยกให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ค่ายรถญี่ปุ่นมีซัพพลายเชนหลากหลายในไทย ดังนั้นอะไรก็ได้หากสามารถร่วมมือกันระหว่างค่ายรถต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ฯลฯ เพื่อใช้ซัพพลายร่วมกันได้ โตโยต้าก็พร้อมเปิดรับเช่นเดียวกัน”

ขณะที่นายทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า การจะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนไม่จำเป็น
ต้องรถไฟฟ้าอย่างเดียว

ทั้งนี้ รถยนต์สันดาปภายในหรือเป็นรถพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ก็ทำได้ สิ่งที่ต้องกังวลคือการรักษาซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไว้ให้ได้มั่นคง

จดทะเบียน EV 66,570 คัน

ผู้สื่อข่าวรายงานยอดจดทะเบียนรถยนต์ แยกตามประเภทเชื้อเพลิง ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าประเภท รย.1 รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน มีจำนวน 8,938 คัน ขณะที่ยอดจดทะเบียนสะสม ม.ค.-พ.ย. รวมทั้งสิ้น 66,570 คัน