ญี่ปุ่นสู้ศึก EV จีน-ลุยส่งออก โตโยต้ายอดพุ่ง “BYD-เทสลา” แรง

ภาพจาก : www.motorexpo.co.th

อุตฯยานยนต์ไทยพลิกฟื้นระดับก่อนโควิด เปิดข้อมูล 5 ค่ายรถญี่ปุ่น “โตโยต้า-อีซูซุ-มิตซูบิชิ-ฮอนด้า-นิสสัน” สร้างรายได้จากฐานผลิตในไทยรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท เผยยอดขายในประเทศชะลอตัว เจอกระแสอีวีตีตลาด แต่ยอดส่งออกช่วยหนุน “โตโยต้า” ผู้นำยังแรงไม่ตก กวาดรายได้เฉียด 5 แสนล้าน ตลาดอีวีร้อนแรง “เรเว่” ของตระกูลพรประภา ตัวแทน BYD ปีแรกปั๊มยอดขาย 6,162 ล้านบาท เปิดตัวเลขจดทะเบียนอีวี 10 เดือนแรก BYD นำโด่ง 2.1 หมื่นคัน ตามด้วย “เนต้า-เอ็มจี” ขณะที่ TESLA ไล่ตามมาเกือบ 7,000 คัน

5 ค่ายญี่ปุ่นปั๊มรายได้ 1 ล้านล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะที่กระแสการตอบรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะค่ายอีวีจีน ที่ใช้นโยบายราคานำ และเตรียมเข้ามาขยายฐานการผลิตในประเทศไทยตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทย

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยังเป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย โดยจากการสืบค้นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ Creden Data พบว่า TOP 5 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ผลิตในประเทศไทย ทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกมีรายได้รวมกันกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โตโยต้า-อีซูซุ-มิตซูบิชิ-ฮอนด้า และนิสสัน โดยหลายบริษัทมียอดขายพลิกฟื้นสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว

โตโยต้ากำไรเฉียด 2.7 หมื่นล้าน

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยังคงเป็นครองแชมป์เป็นค่ายรถญี่ปุ่นที่ทำรายได้สูงสุดในประเทศไทย โดยในปีงบประมาณ 2566 (เม.ย. 65-มี.ค. 66) มีรายได้รวม 492,313 ล้านบาท โดยเติบโตจากปีก่อนหน้า 21% และถือว่าสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 26,915 ล้านบาท

อันดับ 2 บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถปิกอัพอีซูซุ ปีงบประมาณ 2566 มีรายได้รวม 191,165 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 14% และกำไรสุทธิ 23,099 ล้านบาท เติบโต 13%

อันดับ 3 บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (ข้อมูลปี 2565) รายได้รวม 169,774 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,548 ล้านบาท

อันดับ 4 บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด รายได้รวม 158,452 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,896 ล้านบาท และอันดับ 5 บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทประสบปัญหาภายใน ประกอบกับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนชิปในช่วงโควิด-19 ทำให้ผลประกอบการของบริษัทลดลงต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2566 บริษัทมีรายได้รวม 91,359 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ -2,031 ล้านบาท

ภาพจาก : www.motorexpo.co.th

ส่งออกดันยอดขายค่ายญี่ปุ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลประกอบการของค่ายรถญี่ปุ่นที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ก็เพราะส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก เพราะในปีที่ผ่านมาจะพบว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว ประกอบกับมีรถอีวีจีนเข้ามาแย่งตลาด อย่างไรก็ดี ในแง่ของการผลิตรถสันดาปของค่ายญี่ปุ่นเพื่อส่งออกยังคงมีการเติบโตที่ดี

สำหรับยอดผลิตรถยนต์ 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค. 66) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,544,705 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.65% เป็นยอดการส่งออก 927,625 คัน เพิ่มขึ้น 15.86% และยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ 645,833 คัน ลดลง 7.51%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่การส่งออกปีนี้คาดว่าจะได้ 1.1 ล้านคัน เทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ราว 1.054 ล้านคันปี ทำให้การผลิตปี 2566 ที่มีการปรับเป้าใหม่ล่าสุดว่าจะมีจำนวนทั้งสิ้น 1,850,000 คัน

เศรษฐาบินญี่ปุ่นกลาง ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ขณะเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ประกาศนโยบายที่จะให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางสุดท้ายของการผลิตรถยนต์สันดาป”

โดยในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ช่วงกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือทวิภาคีกับนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และได้ยืนยันกับนายกฯญี่ปุ่นว่า ไทยพร้อมดูแลภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปญี่ปุ่นในไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางช่วงสุดท้ายของการผลิตยานยนต์สันดาป ควบคู่กับการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม EV และในระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค.นี้ นายเศรษฐาจะเดินทางไปร่วมประชุมญี่ปุ่น-อาเซียน ซึ่งจะมีการหารือถึงความร่วมมือต่าง ๆ เพิ่มเติม

ภาพจาก : www.motorexpo.co.th

อีวีจีนมาแรง BYD-MG

รายงานข่าวระบุว่า ในส่วนของ “อีวีจีน” ที่ถือว่าผู้บริโภคคนไทยให้การตอบรับอย่างดี และที่ถือว่ามาแรงในช่วงเวลานี้คงนี้ไม่พ้นแบรนด์ BYD ส่งผลให้บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ของตระกูลพรประภา ในฐานะตัวแทนจำหน่ายรถอีวีจีนแบรนด์ BYD ซึ่งหลังจากเปิดดำเนินการปีแรก (ปี 2565) พบว่าสามารถทำยอดขายได้ถึง 6,162 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 131 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบว่าช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ อีวีจีนแบรนด์ BYD มียอดจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกสูงสุด 21,881 คัน

ขณะที่แบรนด์ “เอ็มจี” ก็เป็นอีกแบรนด์ที่ได้รับความสนใจ โดยบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์แบรนด์ “เอ็มจี” ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนอีวีจีนกับเครือ ซี.พี. ที่ได้เปิดโรงงานในประเทศไทยแล้ว รายงานผลประกอบการล่าสุดปี 2565 มีรายได้รวม 21,608 ล้านบาท กำไรสุทธิ 562 ล้านบาท

ส่วนบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถอีวีจีนแบรนด์ ORA รายงานผลประกอบการปี 2565 มีรายได้รวม 404 ล้านบาท กำไรสุทธิ 120 ล้านบาท

5 อีวีจีนขายดีจดทะเบียนสูงสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการขนส่งทางบกได้จัดทำข้อมูลสถิติจำนวนรถจดทะเบียนครั้งแรก ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จำแนกตามยี่ห้อและเชื้อเพลิง พบว่ารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ยอดรวมอยู่ที่จำนวน 57,623 คัน

แน่นอนว่าอันดับ 1 คือ BYD จำนวน 21,881 คัน, อันดับ 2 คือแบรนด์ NETA จำนวน 10,245 คัน, อันดับ 3 แบรนด์ MG จำนวน 9,788 คัน, อันดับ 4 แบรนด์ TESLA มียอดจดทะเบียน 6,886 คัน ถือว่าเป็นอีวีสัญชาติสหรัฐอเมริกาแบรนด์เดียวที่ติดอยู่ใน TOP 5 และอันดับ 5 แบรนด์ ORA จำนวน 5,003 คัน

ขณะที่อันดับ 6 แบรนด์ VOLVO ยอดจดทะเบียนปีนี้ 1,492 คัน อันดับ 7 BMW จำนวน 1,121 คัน อันดับ 8 แบรนด์ VOLT อีวีจีนอีกเช่นกัน 367 คัน อันดับ 9 PORSCHE จำนวน 210 คัน และอันดับ 10 WULING จำนวน 90 คัน