ค่าศัลยกรรม-ค่ารักษาพยาบาล ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี “Easy E-Receipt” ได้หรือไม่ ?

แพทย์
แฟ้มภาพ

สรรพากรไขปมสงสัย “ค่าศัลยกรรม-ค่ารักษาพยาบาล” ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามมาตรการ “Easy E-Receipt” ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ต้องเป็นสินค้าหรือบริการอย่างไรจึงจะใช้สิทธิได้

วันที่ 4 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายคนที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 50,000 บาท ตามมาตรการ “Easy E-Receipt” ที่รัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567 นี้ อาจจะมีข้อสงสัยว่าค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าศัลยกรรม สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้หรือไม่

โดยประเด็นนี้ กรมสรรพากรได้ชี้แจงไว้แล้วว่า “ไม่ได้” เนื่องจากการให้บริการของสถานพยาบาลได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผู้ประกอบการไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีอันเป็นหลักฐานการใช้สิทธิตามมาตรการนี้

ทั้งนี้ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ ได้แก่ ค่าซื้อสินค้าทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ ยกเว้นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ดังต่อไปนี้

-ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
-ค่าซื้อยาสูบ
-ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
-ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
-ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
-ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด (วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567) เช่น ค่าสมาชิกต่าง ๆ
-ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้
จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้
1.ค่าซื้อหนังสือ
2.ค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
3.ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว