เลขาฯ ก.ล.ต. ลุยแก้กฎหมาย PVD รับลูกออมภาคบังคับ-ออมตามความเสี่ยง

สวัสดีครับ ประชาชาติ เวลธ์ เล่าเรื่องการลงทุน เปิด Season ใหม่ ต้อนรับปีมังกรทอง ปี 2567 วันนี้มีโอกาสได้ร่วมสัมภาษณ์พิเศษคุณ “พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งท่านเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. คนใหม่ ที่เพิ่งมารับตำแหน่ง เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

“ประชาชาติ เวลธ์” จึงได้หยิบบทสัมภาษณ์บางช่วงบางตอน เกี่ยวกับการเดินหน้าแก้ไขกฎหมาย รวมถึงแนวทางการผลักดันการยกระดับ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund” ให้ตอบโจทย์การออมภาคบังคับของประเทศ ไปติดตามกันว่ากระบวนการต่าง ๆ ตอนนี้มีความคืบหน้าอย่างไรกันบ้าง

ความคืบหน้าการเสนอแก้กฎหมาย

เลขาฯ ก.ล.ต.กล่าวว่า พอดีรอบนี้เราปรับหลายเรื่อง แก้ทั้งในเรื่อง Digital Asset ที่ Substance เป็นหลักทรัพย์ และก็ย้ายมาอยู่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

เราแก้เรื่องของตัวอำนาจตามกฎหมาย ในเรื่องของการเป็น “พนักงานสอบสวน” การป้องกันพยาน

และแก้ในเรื่องของตัวมิติของตัว PVD ให้เป็น Qualified PVD ฉะนั้นค่อนข้างจะเป็นการปิด Gap หลากหลายเรื่องมาก ก็เลยอาจจะใช้เวลา แต่ตอนนี้อยู่ในชั้นของกฤษฎีกา

แต่ท้ายที่สุดก็ต้องไปผ่านสภา ไม่ก้าวล่วงที่จะไปบอกระยะเวลา แต่คงใช้เวลา

แก้กฎ PVD รับลูกออมภาคบังคับ

เรื่องหนึ่งที่อยู่ในโครงสร้างที่เราปรับไปด้วย คือเรื่อง PVD ในโครงสร้างเราเอาเกราะ PVD ออกมาให้ชัดขึ้นเลย เพราะว่าเป็นเป้าหมายเลย เราอยากจะเห็นการออมระยะยาว และถ้าใครที่เขาทำ PVD อยู่แล้ว ซึ่งเป็นระบบสมัครใจ เราก็อยากให้เขาสามารถเปลี่ยนผ่านไปหาระบบภาคบังคับ ที่รองรับกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติได้

ฉะนั้นเราจะเอางาน PVD มาใหญ่ขึ้นกว่าการที่เราเป็นนายทะเบียน (Registrar) แต่ก่อนเราเป็นแค่นายทะเบียน ตอนนี้เราจะเอาเรื่องเชิงนโยบาย นวัตกรรม การทำให้ดีขึ้นมาเป็นงานหลักเราเลย

ในเชิงนโยบาย ถ้าพูดภาษาง่าย ๆ ก็คือ เราจะไปยกระดับ PVD ที่มีอยู่ เป็นคำว่า Qualified PVD คำว่า Qualified PVD ก็คือว่า เขาต้องมีวิธีปฏิบัติเหมือนกับแนวทางของกองทุนบำหน็จบำนาญแห่งชาติ

เพื่อที่ตัวธุรกิจไหนที่ดูแลลูกจ้างตัวเอง โดยการมี PVD อยู่แล้ว พอ PVD นั้นอัพเกรดขึ้นมาเป็น Qualified PVD คุณก็สามารถที่จะเอาตัวนี้ไปทดแทนกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่เป็นภาคบังคับได้

แต่ถ้าเกิดคุณไม่อัพเกรด คุณก็ยังมี PVD ของคุณอยู่ได้ เป็นสมัครใจ แต่คุณจะต้องมีระบบนั้น เป็นต้น

ตัวนี้ก็เพื่อที่จะให้คนที่มีระบบดี ๆ อยู่แล้ว แต่เขาก็ต้องอัพเกรดบ้าง เช่น ต้องมีการเข้าเป็นสมาชิก (Auto Enrollment)

พนักงานมาเลือกไม่ได้แล้วนะ คุณต้องบังคับเข้าเลย อันนี้พนักงานใหม่ พนักงานเก่าเข้าอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอะไรที่สำนักงาน ก.ล.ต. จริง ๆ ช่วงก่อนที่จะเป็นเลขาธิการ ก็อยู่อนุกรรมการชุดพวกนี้ เราทำมา 2-3 ปีแล้ว เพื่อจะรองรับตรงนี้

ออมตามความเสี่ยง

ขณะเดียวกันสิ่งที่เรามองในเชิงนโยบาย ก็คือ ไม่ใช่แค่บังคับออม ต้องออมเป็นด้วย หมายความว่านโยบายที่ใช้ในการลงเงินกับ PVD ควรสอดคล้องตามฐานความเสี่ยง

เช่น คุณอายุยังน้อย คุณออมแล้วไปเลือกแผนไม่เสี่ยงเลย โตไม่ทัน เงินเราก็น้อยอยู่แล้ว เงินเดือนน้อย ต่อให้เราออมเงินทั้งหมด 5%, 10% ก็ได้เงินน้อยมาก

ฉะนั้นก็ควรจะไปอยู่ในแผนที่มีความเสี่ยงสูงหน่อย เพื่อที่จะรับความเสี่ยงได้ เพราะเป็นการออมระยะยาว พวกนี้ก็จะไปปรับ เช่น แผนการลงทุนพื้นฐาน (Default Plan) ให้เป็นเรื่องของพวก เช่น การลงทุนแบบสมดุลตามอายุ (Life Path) เป็นต้น

อันนี้ก็ต้องอาศัยจากผลการศึกษา อันไหนยังภาคบังคับไม่ได้ เราก็เป็นการโปรโมตให้ความรู้อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น

อยากได้ Coverage สูงขึ้น อยากให้คนมาอยู่ในแผน PVD เยอะขึ้น อยากได้นายจ้างเห็นความสำคัญมากขึ้น จริง ๆ ตอนนี้ก็เยอะขึ้น แต่ถ้าเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ เราก็เรียกว่ายังน้อยมาก ในความหมายเทียบประชากรที่เป็นลูกจ้าง

ช่วงโควิดก็จะมีการยกเลิก ก็เข้าใจได้ ต่อให้เราออมระยะยาวยังไง ในจังหวะที่เป็นวิกฤต บางทีด้วยเม็ดเงินอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น นายจ้างก็มีปัญหา ลูกจ้างก็มีปัญหา

การออมเพื่อการเกษียณ ยังคงเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะความพร้อมของคนไทยที่จะพึ่งพาตนเองได้หลังการเกษียณ ยังมีไม่มากพอ

และทั้งหมดคือ ประชาชาติ เวลธ์ เล่าเรื่องการลงทุน ในสัปดาห์นี้ ฝากติดตามรายการ ได้ทุกวันจันทร์ เวลา 2 ทุ่ม ทางเฟซบุ๊ก ยูทูบ และ TikTok ของประชาชาติธุรกิจ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ