ดอลลาร์แข็งค่า หลังผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯพุ่งแตะนิวไฮ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 24 เมษายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/4) ที่ระดับ 31.56/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (23/4) ที่ 31.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปรับตัวกลับมาแข็งค่าจากการเทขายทำกำไรบางส่วนของนักลงทุน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก จากแรงหนุนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่เพิ่มขึ้นใกล้ระดับ 3% โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ขึ้นแตะระดับ 2.995% สูงสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความผันผวนของตลาดโลก ทำให้นักลงทุนหันกลับมาถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คารดการณ์ไว้ ขณะที่นักลงทุนจับตาดูตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 1/2561 ของสหรัฐ ในวันศุกร์ (27/4) เพื่อหาแนวโน้มสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed

สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.06% ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ส่วนการนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.47% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 1,268.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากเศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว โดยภาพรวมหลักเป็นสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ส่วนสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวและยางพาราปรับตัวลดลง เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกรัฐบาลมีการกำหนดโควต้าการส่งออกยางพารา อย่างไรก็ตามคาดการณ์ทั้งปีการส่งออกยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องจับตามาตรการกีดกันทางการค้าที่จะกระทบต่อการส่งออกไปยังตลาดที่เป็นคู่ค้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.45-31.56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (24/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.2186/88 ดอลลารสหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (12/4) ที่ 1.2232/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ถึงแม้ว่าตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโรโซนออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดในเมษายน แต่ทั้งนี้นักลงทุนยังคงปรับลดการถือครองในเงินสกุลยูโรก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่กำลังจะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ (26/4) ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าผู้กำหนดนโยบายจะยังไม่ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงนโยบายใด ๆ ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2184-1.2223 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2203/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (24/4) เปิดตลาดที่ระดับ 108.82/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงมากที่สุดในบรรดาเงินสกุลหลักจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (23/4) ที่ 108.22/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากปัจจัยแข็งค่าจากตัวค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังได้รับแรงกดดันจากคำแถลงการณ์ของผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) นายคุโรดะ ทำให้ตลาดคาดว่า BOJ จะยังคงใช้มาตรการนโยบายผ่อนคลายต่อ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.68-108.91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (24/4) ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (26/4) และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการผู้ว่างงานของสหรัฐ (26/4) การประชุมนโยบายการเงิน ECB (26/4) และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 1/2561 ของสหรัฐ (27/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยูที่ -3.2/-3.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.5/0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ