บทความโดย "ชัญญาพัชญ์ อัครกิจวณิชย์" ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
วันที่ 23 มกราคม 2567 อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นล่วงหน้าได้ ผู้ใช้รถยนต์จึงให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยรถยนต์ โดยประกันภัยมีความจำเป็น 2 ฉบับคือ
การทำประกันภัยภาคบังคับ หรือ “พ.ร.บ.” (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) และการทำประกันภัยภาคสมัครใจ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง ในกรณีที่อาจเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด จนทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถควบคุมได้ หมายความว่า การทำประกันภัยรถยนต์ จึงเป็นการโอนความเสี่ยง โดยให้บริษัทประกันภัยเข้ามาดูแลจัดการแทน
ทั้งนี้เชื่อว่าหลาย ๆ คน ที่เป็นผู้ใช้รถยนต์และทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ยังไม่ทราบถึงสิทธิของตนที่พึงได้รับจากการขาดประโยชน์จากการใช้รถ
เช่น ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและผู้ใช้รถยนต์เป็นฝ่ายถูก ไม่สามารถใช้งานรถยนต์ได้ในระหว่างซ่อมทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีการเดินทาง เช่น นั่งรถโดยสารสาธารณะ หรือรถ Taxi อาจทำให้เกิดความไม่สะดวก และอาจมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น และในบางกรณีอาจเสียรายได้ในระหว่างรถกำลังซ่อม
ในกรณีนี้ผู้ใช้รถยนต์สามารถเรียกร้องค่าสินไหมที่เกิดจากการขาดประโยชน์จากการใช้รถจากบริษัทประกันของคู่กรณีได้ (เฉพาะกรณีที่ผู้ใช้รถยนต์เป็นฝ่ายถูกเท่านั้น)
ใครบ้าง ? มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ
- ผู้เสียหาย/ผู้ใช้รถยนต์ที่เป็นเจ้าของรถ (เป็นฝ่ายถูก) เกิดอุบัติเหตุรถชน
- คู่กรณีที่มีการทำประกันภัยรถนต์ภาคสมัครใจ (เป็นฝ่ายผิด)
เรียกร้องเงินค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ได้เท่าไหร่บ้าง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้กำหนดความคุ้มครองค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เพื่อไม่ให้บริษัทประกันภัยจ่ายในจำนวนที่ต่ำเกินไป ดังนี้
- รถยนต์ส่วนบุคคล ขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง ได้รับการชดเชยในอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
- รถยนต์รับจ้างสาธารณะ ขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง ได้รับการชดเชยในอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
- รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง ได้รับการชดเชยในอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
เมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สำหรับผู้ใช้รถยนต์ที่มีการทำประกันรถยนต์ก็จะมีความสบายใจ อุ่นใจ เมื่อมีบริษัทประกันมาดูแลรับผิดชอบค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นตามความคุ้มครองที่ได้รับแต่ละประเภทของประกันภัยนั้น ๆ
ดังนั้น หากตนเองไม่ได้เป็นฝ่ายผิด สามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในระหว่างซ่อมจากบริษัทประกันของคู่กรณีได้ แต่หากผู้ใช้รถยนต์ทำประกันภัยเฉพาะ พ.ร.บ. ซึ่งคุ้มครองคน ไม่คุ้มครองทรัพย์สิน ก็จะไม่สามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้
ที่สำคัญเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก การติดกล้องหน้ารถยนต์ก็เป็นตัวช่วยที่สามารถใช้เป็นหลักฐานลดข้อขัดแย้งในการเจรจาได้ อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยได้
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ผู้ใช้รถยนต์ควรรู้ เพื่อรักษาผลประโยชน์และสิทธิอันพึงได้รับจากการทำประกันภัยได้
อนึ่ง คำสั่งนายทะเบียน ที่ 70/2561 เรื่อง ให้แก้ไขแบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2562