จุลพันธ์ หารือนายกฯ ถกคืบหน้าดิจิทัลวอลเลต พร้อมตอบคำถาม ป.ป.ช.

จุลพันธ์

“จุลพันธ์” รมช.คลัง เข้าทำเนียบ พบนายกฯเศรษฐา ถกนโยบายดิจิทัลวอลเลต เผยเรื่องรายละเอียดยังไม่สามารถบอกได้ ยันพร้อมตอบทุกคำถาม ป.ป.ช.ย้ำ กนง.พิจารณาดอกเบี้ยนโยบายต้องคำนึงถึงผลกระทบประชาชน

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เนื่องจากยังอยู่ระหว่างรอหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ ของ ป.ป.ช.ได้อยู่แล้ว

“ในวันนี้ได้มีการหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเลต โดยในส่วนของผมก็มีข้อเสนอที่ได้นำไปพูดคุย หารือกัน แต่รายละเอียดยังไม่สามารถบอกได้ ส่วนเรื่องหนังสือของ ป.ป.ช.นั้น รัฐบาลมีคำตอบให้อยู่แล้ว แต่ในรายละเอียดก็มีขั้นตอนที่ต้องทำ แต่เชื่อว่าไม่มีประเด็นอะไร รัฐบาลตอบได้แน่นอน” นายจุลพันธ์กล่าว

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในตอนนี้ จะเห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจมันชี้ชัด มันหนักขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามอย่างไรก็ตาม แต่สถานการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาเรื่อย ๆ มันชะลอลงจริง ๆ โดยล่าสุดทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยืนยันว่าตัวเลขดรอปลงจริง ๆ โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจของปี 2566

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า สถานการณ์ปัจจุบันเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ต้องยอมรับว่ายังเป็นภาระกับประชาชนอยู่มาก ซึ่งการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 ก.พ. 2567 ก็เป็นอำนาจของ กนง.ที่จะพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนตัวคงไม่อยากเข้าไปพูด แต่ที่ผ่านมารัฐบาลก็พูดชัดเจนอยู่แล้วว่า อยากให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย ได้มีความเชื่อมโยงนโยบายให้ใกล้กับประชาชนมากขึ้นกว่านี้ จะห่วงแต่เรื่องเสถียรภาพอย่างเดียวไม่ได้

Advertisment

“ตอนนี้กำลังซื้อของประชาชนมันหดหาย บวกกับสถานการณ์ตอนนี้ที่ตัวเลขหนี้สูง ทั้งหนี้ภาคครัวเรือน ทำให้ประชาชนไม่ใช้จ่าย เพราะเป็นห่วงเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของตัวเอง ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ไม่ลงทุน เพราะประชาชนไม่ใช้จ่าย มันก็ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ เราจะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมามันไปอยู่ที่ประชาชนกลุ่มบนทั้งหมด ขณะที่ประชาชนในกลุ่มล่าง หรือกลุ่มฐานรากจริง ๆ ไม่มีการขยายตัว ไม่มีรายได้ที่เพียงพอ” นายจุลพันธ์กล่าว