ทำความรู้จักหุ้นกู้อนุพันธ์ ต่างจากหุ้นกู้ปกติอย่างไร ?

หุ้นกู้

ทำความรู้จัก “หุ้นกู้อนุพันธ์” ทางเลือกลงทุนแบบใหม่ ต่างจากหุ้นกู้ปกติอย่างไร เหมาะกับใครบ้าง

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงทุนในหุ้นกู้กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ แต่ที่ได้รับการนิยมในตอนนี้คงเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ ที่มีทั้งธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ นำออกมาเสนอขายอย่างต่อเนื่อง

โดยนางลัดดาวัลย์ เมฆสุภะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Private Wealth Management สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน KTB เปิดเผยว่า หุ้นกู้อนุพันธ์แฝง หรือ Structured Notes เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทหนึ่ง ที่มีการผสมผสานระหว่างหุ้นกู้กับอนุพันธ์ โดยลักษณะพื้นฐาน เหมือนกับหุ้นกู้ปกติ แต่แตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปตรงที่การจ่ายผลตอบแทนหรือดอกเบี้ย และจ่ายคืนเงินต้นอ้างอิงกับราคาของสินค้าอ้างอิงนั้น ๆ หากออกโดยธนาคารกรุงไทย (KTB) จะเป็นผู้ถือหุ้นกู้ของแบงก์กรุงไทย เพียงอนุพันธ์ที่เพิ่มเข้ามาเป็นหุ้นกู้ประเภทที่มีอนุพันธ์แฝง

ซึ่งหากถือหุ้นกู้ปกติ เช่น อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 5% ก็จะตรงไปตรงมาตามเงื่อนไข แต่หากเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ จะมีเงื่อนไขของผลตอบแทน ที่ไปอ้างอิงกับปัจจัยตลาดหรือปัจจัยต่าง ๆ ที่ใช้อ้างอิงในครั้งนั้น เช่น เป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ที่จ่ายผลตอบแทนอ้างอิงดัชนีตลาดหุ้น Nasdaq ก็จะมีเงื่อนไขบอกว่าผลตอบแทนตามตลาดหุ้นที่นักลงทุนลง หากตลาดโตขึ้นก็จะโตตาม หรือหากตกก็จะตกตามด้วย ซึ่งจะมีสูตรในการคำนวณ ขึ้นอยู่กับลูกเล่นที่หุ้นกู้ไปออก ขณะที่เงินต้นจะมีทั้งประเภทคุ้มครองเงินต้นเต็มจำนวนกับคุ้มครองแบบไม่เต็มจำนวน

“ดังนั้นเหมือนกับว่าเราได้ลงทุนในตลาดหุ้น ในดัชนีหุ้นที่เลือกลง แต่เราไม่ต้องกลัวขาดทุนเพราะว่าแม้ตลาดหุ้นที่เลือกลงทุนจะติดลบ ผลตอบแทนเราจะกลายเป็น 0 เนื่องจากเป็นการคุ้มครองเงินต้น 100% เราลงทุน 1 ล้านบาท เราก็ได้คืน 1 ล้านบาท”

Advertisment

อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการลงทุนในหุ้นกู้ คือ ความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ เหมือนกับไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน แล้วบริษัทไม่ทำการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย หุ้นกู้อนุพันธ์ก็เช่นกัน ความเสี่ยงอันดับหนึ่งก็คือการผิดนัดชำระ ดังนั้นต้องดูให้ชัดเจนว่าใครเป็นออกหุ้นกู้ ในปัจจุบันคนที่ออกหุ้นกู้อนุพันธ์มีทั้งแบงก์ และบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งความเสี่ยงเครดิตเรตติ้งก็จะไม่เท่ากัน รวมถึงต้องดูถึงความแตกต่างด้านผลตอบแทน เวลาที่เราลงหุ้นกู้ธรรมดาผลตอบแทนจะคงที่ แต่หากลงหุ้นกู้อนุพันธ์จะขึ้นอยู่กับปัจจัยตลาดที่ไปอ้างอิง

“หากถามว่ามันดีกว่าหรือเปล่า เราตอบว่ามันจะยืดหยุ่นกว่า หากเราเป็นผู้ลงทุนที่อยากได้ผลตอบแทนคงที่ ไม่ต้องการไปอ้างอิงกับอย่างอื่นก็เลือกลงทุนหุ้นกู้ธรรมดา แต่หากผู้ลงทุนต้องการลงทุนหุ้นกู้และอยากได้การคุ้มครองเงินต้น 100% แต่อยากมีโอกาสที่ผลตอบแทนจะเติบโตได้ตามตลาดหุ้น หรือบางที่ก็มีไปอ้างอิงตามราคาทองคำได้ด้วย หุ้นกู้อนุพันธ์ก็สามารถยืดหยุ่นการลงทุนในตลาดที่ตรงกับสถานการณ์ในเวลานั้นๆได้”

ทังนี้ การลงทุนที่มีหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง ของธนาคารกรุงไทย (KTB) เริ่มการขายหุ้นกู้อนุพันธ์ เมื่อประมาณ 3 ปี ที่ผ่านมา ที่เป็นช่วงโควิด-19 และ KTB เป็นธนาคารแรกที่เริ่มออกหุ้นกู้อนุพันธ์แบบคุ้มครองเงินต้น ซึ่งก็ถือว่าตอบโจทย์ได้เป็นอย่างมาก ผลตอบรับค่อนข้างดี มีการเสนอขายทุกปีโดยเฉลี่ย 1 ปี ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งตลาดที่ KTB ได้อ้างอิงมีหลายหลาย อาทิ ทองคำ ตลาดหุ้นทั่วโลก กองทุนรวม ดัชนีหุ้นสินค้าและบริการ เป็นต้น

อย่างปัจจุบันที่กำลังทำการขายอยู่เป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ไปอ้างอิงกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งถือว่ามีความน่าสนใจเนื่องจากในช่วงปัจจุบันเป็นจังหวะที่ดอกเบี้ยฝั่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นหากมีการปรับลดจริงสิ่งที่ควรทำคือไปซื้อพันธบัตร ในขณะที่ยังไม่ลดดอกเบี้ย หากดอกเบี้ยปรับลงเราก็จะทำกำไรได้

Advertisment

ด้าน บล.เอเชียพลัส รายงานว่า หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงที่มีการอ้างอิงกับราคาหุ้น เป็นทางเลือกการลงทุนแบบใหม่ ในช่วงที่ตลาดไม่มีทิศทางชัดเจน (Sideway) หรือแกว่งตัวแคบ ทั้งยังสามารถใช้เป็นกลยุทธ์ในการเก็บหุ้นได้เช่นกันนักลงทุนสามารถออกแบบลักษณะการลงทุนได้ตามความต้องการ เช่น หุ้นอ้างอิง, ระยะเวลา ราคาใช้สิทธิ และอื่น ๆ

เพื่อปรับให้เหมาะกับความเสี่ยงและผลตอบแทนของผู้ลงทุนแต่ละคนได้ โดยหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง เหมาะกับนักลงทุนที่อยากได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ในรูปแบบของดอกเบี้ย และสามารถรับความเสี่ยงของสินทรัพย์อ้างอิงได้ นักลงทุนที่อยากได้หุ้นที่ชอบ ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด และนักลงทุนที่อยากออกแบบลักษณะตราสารได้ตามจุดมุ่งหมายของการลงทุน

ด้าน บล.กสิกรไทย รายงานว่า หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นตราสารการเงินที่ผสมระหว่าง หุ้นกู้ กับตราสารอนุพันธ์ โดยมีลักษณะพื้นฐานเหมือนกับหุ้นกู้ระยะสั้น แต่การจ่ายผลตอบแทนหรือดอกเบี้ย จะอ้างอิงกับราคาหลักทรัพย์ ซึ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่มากกว่า (ต่ำกว่าการลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงโดยตรง)

สามารถลงทุนได้ในสภาวะตลาดที่หลากหลาย และผู้ลงทุนสามารถออกแบบให้ตรงกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังได้ ไม่ว่าจะเป็น หลักทรัพย์อ้างอิง, ระยะเวลาการลงทุน หรือมูลค่าการลงทุน โดยจุดเด่น มีการคุ้มครองเงินต้น แต่ผู้ลงทุนยังสามารถได้รับผลตอบแทนเพิ่ม ตามราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นความเสี่ยง มีโอกาสไม่ได้รับผลตอบแทน หากราคาหุ้นอ้างอิงไม่เคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่คาดไว้