“ผยง” ชี้ ไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบสูงแซงเพื่อนบ้าน แนะภาครัฐต้องกล้าดึงคนเข้าระบบ

ผยง ศรีวณิช

“ผยง” ประธานสมาคมธนาคารไทย ชี้ไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบสูงเกิน 50% แซงคู่เทียบ สร้างแรงกดดันเศรษฐกิจ 6 ด้าน “ความเหลื่อมล้ำสูง-รายได้ประชากร-ภูมิคุ้มกันต่ำ” เสนอ 3 แนวทางแก้ไข แนะภาครัฐต้องกล้าดึงคนเข้าระบบ-แก้หนี้ยั่งยืนไม่ใช่แค่วาระแห่งชาติ หนุนทรัพยากรไหลสู่คน K Shape ฐานราก

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) กล่าวในงานสัมมนา “iBusiness Forum 2024 RESHAPING THAILAND FOR A SUSTAINABLE FUTURE พลิกเศรษฐกิจไทยก้าวไปอย่างยั่งยืน” ว่า ศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทยนอกจากเผชิญกับดักรายได้ปานกลางแล้ว แต่ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจนอกระบบที่สูงมาก ซึ่งมีผลต่อปัจจัยเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ

โดยเศรษฐกิจนอกระบบก่อให้เกิดปัญหา 6 ด้าน คือ 1.รายได้ต่อหัวประชากรต่ำ 2.ความเหลื่อมล้ำความยากจนสูงมากขึ้น 3.ธรรมาภิบาลยู่ในเกณฑ์ต่ำ มีการทุจริต การคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น และมีการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจหรือไม่ 4.ผลิตภาพต่ำ (Productivity)

5.ความยืดหยุ่นหรือภูมิคุ้มกันต่อการถูกกระทบจากแรงเหวี่ยงเศรษฐกิจโลกและภายนอกต่ำ เช่น ช่วงโควิด-19 จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่ยึดโยงกับภาคบริการ ภาคที่ใช้แรงงานสูงจะถูกกระทบมาก และการฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด-19 ค่อนข้างช้ากว่าประเทศอื่น ทำให้การ Recovery ของจีดีพีต่ำกว่าที่อื่น และ 6.การพัฒนาอย่างยั่งยืน จะเห็นว่าไทยอยู่ในอันดับ 110 จากค่าเฉลี่ย 80

“ปัจจุบันเศรษฐกิจนอกระบบของไทยสะท้อนว่าสูงกว่าคู่แข่งคู่เทียบอย่างเวียดนาม โดยเศรษฐกิจนอกระบบของไทยสูงกว่า 50% สะท้อนจากคนที่อยู่ในระบบ เช่น ประชากรไทย 77 ล้านคน มีประมาณ 11 ล้านคนที่ยื่นภาษี แต่มีเพียง 4 ล้านคนที่เสียภาษี ขณะที่คน 66 ล้านคนต้องการสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงแรงงานนอกระบบก็อยู่ในเกณฑ์ที่สูงถึง 50% ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพแรงงานของไทย

และหนี้นอกระบบที่ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าเท่าไหร่ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) อยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท หอการค้าไทยประเมินอยู่ที่ 3.9 ล้านล้านบาท ซึ่งหากรวมข้อมูลอย่างครอบคลุมแล้ว ภายใต้หนี้ครัวเรือนราว 90% ของจีดีพี อาจจะถึง 100-110% ของจีดีพีก็ได้ ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีการจดทะเบียนอยู่ที่ 26% และอีก 74% อยู่นอกระบบ ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ K Shape ลดความเหลื่อมล้ำได้”

อย่างไรก็ดี จะมี 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้กลไกเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ 1.สร้างข้อมูล (Data) เนื่องจากธุรกิจนอกระบบไม่ทำให้เกิด Data ซึ่งมีความสำคัญมาก เมื่อมีข้อมูล Data ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจและนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เหมาะสม ลดต้นทุนแฝงลดลงจากทรัพยากรที่ถูกใช้ไปกับกลุ่มที่ไม่ใช้เป้าหมายที่เป็นการสาดกระสุน ลดการคอร์รัปชั่น ทำให้ผลิตภาพที่ดีขึ้น และลดการลงทุนซ้ำซ้อน

2.การส่งเสริมเอสเอ็มอีเข้าระบบด้วยการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองกับรายใหญ่ สร้างการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมถึงการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ครอบคลุมมากขึ้น การบริหารต้นทุน-ความเสี่ยงอย่างสมดุล อัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ซึ่งจะเป็นการแก้หนี้นอกระบบไปโดยอัตโนมัติ

3.การแก้หนี้นอกระบบอย่างครบวงจร เพราะปัจจุบัน 27% ของครัวเรือนเข้าไม่ถึงระบบสินเชื่อ ซึ่งการพึ่งพาเงินนอกระบบ จะเห็นว่าประมาณ 75% ต้องการใช้เงินฉุกเฉิน และกลุ่มที่ไม่มีข้อมูลที่ให้ธนาคารประเมินได้ อย่างไรก็ดี การแก้หนี้ต้องตั้งอยู่บนหลักความเป็นธรรม และแก้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่วาระแห่งชาติ

ขณะเดียวกัน ไทยยังเผชิญปัญหาสังคมสูงวัย (Aging Society) ที่จะกระทบถึงแรงงานในอนาคต หรือการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะต้อง Reskill บุคลากรในธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเชื่อว่าการเข้ามาของดิจิทัลจะทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยทุกธุรกรรมของธนาคารจะถูกกระทบหมดจาก AI และจะเห็นว่าปัจจุบันผลตอบแทนของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่น

“เราไม่ต้องพูดถึงว่าดอกเบี้ยสูงหรือต่ำ เพราะอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ คนที่อยู่ส่วนบนของ K Shape อาจจะมองไม่สูง แต่อาจจะสูงสำหรับคนที่อยู่ K Shape ด้านล่าง ส่วนในระยะใกล้นี้อยากให้มองถึงเรื่องสปีดที่เราจะต้องเร่งปฏิรูปให้ผ่านจุดเปลี่ยนผ่านให้ทันคนอื่น การเร่งดึงคนนอกระบบเข้าสู่ระบบ ซึ่งตรงนี้รัฐอาจจะต้องกล้าที่จะทำ เพราะท้ายที่สุดก็จะทำให้ทรัพยากรต่าง ๆ ไหลไปสู่ส่วนล่างของ K Shape และทำให้ระบบต่าง ๆ มีความเป็นธรรมมากขึ้น”