ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ตลาดจับตาถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด

ธนบัตร U.S.dollar banknotes
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ตลาดจับตาถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด หลังดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (Core PPI) ปรับตัวขึ้น 2.0% ในเดือน ม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ขณะที่ปัจจัยในประเทศค่าเงินบาทถูกกดดัน หลังสภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือขยายตัวแค่ 2.2-3.2%  

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/2) ที่ระดับ 35.93/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/2) ที่ระดับ 36.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าช่วงแรกดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบเงินสกุลหลัก โดยได้รับแรงหนุนจากการที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไป (Headline PPI) ปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือน ม.ค. จากระดับ 1.0% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน ม.ค. หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือน ธ.ค. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.1%

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (Core PPI) ปรับตัวขึ้น 2.0% ในเดือน ม.ค. จากระดับ 1.7% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.6% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีรายเดือน ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือน ม.ค. หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือน ธ.ค. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.1%

หวั่นเงินเฟ้อสูง เฟดตรึงดอกเบี้ยยาว

โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดการณ์จะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนปรับลดน้ำหนักต่อคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. ขณะที่เพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าว

โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนปรับลดน้ำหนักสู่ระดับ 51.7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 สู่ระดับ 5.00-5.25 ในการประชุมเดือน มิ.ย. และปรับเปลี่ยนน้ำหนักสู่ระดับ 25.8% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50 ในการประชุมเดือน มิ.ย.

อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าในเวลาต่อมา ภายหลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดิ่งลง 14.8% สู่ระดับ 1.33 ล้านยูนิตในเดือน ม.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.46 ล้านยูนิต และเมื่อเทียบรายปี ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 0.7% ในเดือน ม.ค. ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านลดลง 1.5% สู่ระดับ 1.47 ล้านยูนิตในเดือน ม.ค.

โดยส่งสัญญาณว่าภาคอสังหาฯของสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง สำหรับมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 79.6 ในเดือน ก.พ. จากระดับ 79.0 ในเดือน ม.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 80.0 โดยส่งสัญญาณว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในเดือน มี.ค. โดยมีกำหนดการกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินปะจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6 มี.ค. ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 7 มี.ค.

สภาพัฒน์ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี’67

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังคงถูกกดดันจากการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือขยายตัว 2.2-3.2% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวราว 2.7-3.7% หลังภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2566 ขยายตัวได้ 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565 ตามการลดลงต่อเนื่องของภาคการส่งออก รวมทั้งการลดลงของการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐ

ส่วนตัวเลข GDP ในไตรมาส 4/66 ขยายตัวได้ 1.7% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการที่เร่งตัวขึ้น สำหรับการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลปรับตัวลงเป็นผลจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการในระบบตลาด และการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลง ประกอบกับการลงทุนรวมปรับตัวลง

ทั้งนี้ ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.00-35.99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/2) ที่ระดับ 1.0980/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/2) ที่ระดับ 1.0766/67 จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้สำนักสถิติรายงานดัชนีราคาค้าส่งของเยอรมนีปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือน ม.ค.จากการปรับตัวลง 0.6% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าภาคการณ์ว่าจะปรับตัวลง 0.4%

โดยบ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อในภาคผู้บริโภคยังคงขยายตัว ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไป ทั้งนี้ ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0773-1.0788 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0778/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/2) ที่ระดับ 149.97/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/2) ที่ระดับ 150.29/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้สำนักงานคณะรัฐ,นตรีของญี่ปุ่นเปิดเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือน ธ.ค. 2566 เมื่อเทียบรายเดือนซึ่งมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวขึ้น 2.5% และเมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานปรับตัวลง 0.7% ในเดือน ธ.ค. ซึ่งปรับตัวลงน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลง 1.4% โดยบ่งชี้ว่า แนวโน้มการใช้จ่ายด้านการลงทุนในอีก 6-9 เดือนข้างหน้ามีทิศทางที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.87-150.04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.90/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประกอบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (LPR) ของจีน (20/2), ดุลการค้าญี่ปุ่น (21/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อญี่ปุ่น (22/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซน (22/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน (22/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐ (22/2), ยอดขายบ้านมือสอง (21/2) และ GDP เยอรมนี (23/2)

สำนักอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.5/-8.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.0/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ