“ธนารักษ์” รับลูกเร่งแก้ปัญหา เขตเศรษฐกิจพิเศษพัฒนาไม่กระเตื้อง

กรมธนารักษ์
หมายเหตุ : ภาพประกอบไม่ใช่โครงการที่ระบุในข่าว

กรมธนารักษ์เร่งหาทางออกเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไม่ปัง หลังเปิดประมูลหลายรอบ บางพื้นที่ไม่ได้ผู้ชนะประมูล บางพื้นที่มีผู้ชนะประมูลแล้วแต่การพัฒนาพื้นที่ไม่คืบหน้า เตรียมชงแนวทางให้บอร์ด กพศ.พิจารณาเร็ว ๆ นี้

นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างหาข้อสรุปการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ เพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ เป็นประธาน พิจารณาต่อไป

หลังจากล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยมีการระบุถึงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ที่ให้กรมธนารักษ์มาพิจารณาเรื่องสัญญา เพื่อไม่ให้เสียโอกาส ซึ่งเบื้องต้นทางกรมธนารักษ์คงไม่สามารถไปยกเลิกสัญญากับเอกชนที่ชนะประมูล และจ่ายค่าเช่าอยู่ในปัจจุบันได้ในทันที โดยคงต้องมีการเชิญมาหารือเพื่อพิจารณาแผนการดำเนินโครงการก่อน

“โดยหลัก เอกชนที่ประมูลได้ เขามีการจ่ายค่าเช่าเข้ามาแล้วค่อนข้างเยอะ ดังนั้นคงต้องให้ทำแผนมาดูกัน แล้วก็ต้องให้เวลาดำเนินการตามแผน หากไม่สามารถทำได้ตามแผน ก็ต้องพิจารณากันอีกที” นายจำเริญกล่าว

จำเริญ โพธิยอด
จำเริญ โพธิยอด

ทั้งนี้ นอกจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนมแล้ว ก็จะต้องหารือร่วมกับพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด ที่เอกชนประมูลได้ไปนานแล้ว แต่เจอผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนกระทั่งปัจจุบัน ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก ยกเลิกสัญญากับผู้ชนะประมูลไปแล้ว ก็ต้องมาพิจารณารายละเอียดกันใหม่

“ตอนนี้กำลังพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ใหม่ แต่ที่ผ่านมาก็ถือว่าให้สิทธิประโยชน์ค่อนข้างมากอยู่แล้ว แต่แนวทางจะเป็นอย่างไร คงต้องรอเสนอให้ กพศ.พิจารณาก่อน ซึ่งจะมีประชุมกันในเร็ว ๆ นี้” นายจำเริญกล่าว

รายงานแจ้งว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม มีผู้ชนะประมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่ ได้แก่ บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งได้ลงนามสัญญาเช่าจากกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2562 บนที่ราชพัสดุ เนื้อที่ประมาณ 1,335 ไร่ เพื่อพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พาณิชยกรรม ศูนย์กระจายสินค้า SMEs OTOP และอุตสาหกรรมทั่วไป และกำลังจะครบสัญญาเช่าในเดือน ก.ค. 2567 แต่ที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าในการพัฒนา

ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่า หากเอกชนรายดังกล่าวทำโครงการต่อไปไม่ไหว ก็ควรจะพิจารณาให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาดำเนินการแทน

ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด ผู้ที่ชนะประมูลก็คือ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการลงทุน และมีการขอปรับแผนการลงทุน โดยมีการขอให้ปรับสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงให้มีการขยายพื้นที่เพิ่มอีก 3 อำเภอ คือ อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่ และอำเภอเมือง

นอกจากนี้ ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ทางกรมธนารักษ์ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น (Market Sounding) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน เพื่อนำความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการเบื้องต้นที่ภาคเอกชนประสงค์จะให้ภาครัฐสนับสนุน และข้อเสนอแนะ ไปประกอบการพิจารณาทบทวนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ และการเปิดประมูลพัฒนาโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร หนองคาย และตาก ให้มีความเหมาะสม เกิดการจูงใจและมีการลงทุนพัฒนาโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นรูปธรรม

ที่ผ่านมา รัฐบาลชุดที่แล้วได้ดำเนินงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ใน 10 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย ได้แก่ ตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด สงขลา หนองคายนครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และเชียงราย ซึ่งบางแห่งก็ให้ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็น
ผู้พัฒนา ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ก็เปิดประมูลเพื่อหาผู้ที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่