คนไทยใช้จ่ายออนไลน์ เติบโตสูงสุดในเอเชีย เปิด 3 ปัจจัยหนุน

โอนเงิน ใช้จ่ายออนไลน์ ธุรกรรมออนไลน์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดข้อมูลการใช้จ่ายออนไลน์ พบคนไทยใช้มากขึ้น จนเติบโตสูงสุดในเอเชีย ทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ถึง 95.5% จากปริมาณธุรกรรมรายย่อย พร้อมเปิด 3 ปัจจัยหนุนการเติบโต

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานข้อมูลการใช้จ่ายออนไลน์ของประเทศทวีปเอเชีย ช่วงปี 2020-2022 ซึ่งรวบรวมจากธนาคารกลางของแต่ละประเทศ โดยระบุว่า คนไทยใช้จ่ายออนไลน์เติบโต 30.6% ต่อปี สูงสุดในเอเชีย โดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยอย่างน้อย 1 ครั้ง/วัน

ข้อมูลดังกล่าว มีการรวบรวม CAGR (Compound Annual Growth Rate) หรืออัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี โดยเป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2020-2022 พบว่า ประเทศไทยมีการใช้จ่ายออนไลน์เติบโต 30.6% ต่อปี จากปี 2020 ที่มีอยู่เฉลี่ย 250 ครั้งต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 557 ครั้งต่อคนต่อปี ในปี 2022 พร้อมทั้งระบุด้วยว่า คนไทยทำธุรกรรมออนไลน์ คิดเป็น 95.5% ของปริมาณธุรกรรมรายย่อยทั้งหมด

ขณะที่ตัวเลขการเติบโต เกี่ยวกับการใช้จ่ายออนไลน์ ในประเทศอื่น ๆ เรียงตามอัตราเติบโตมากที่สุด-น้อยที่สุด เป็นดังนี้

  1. มาเลเซีย
    • ปี 2020 เฉลี่ย 170 ครั้งต่อคนต่อปี
    • ปี 2022 เฉลี่ย 272 ครั้งต่อคนต่อปี
    • อัตราเติบโต 17.0% ต่อปี
  2. เกาหลีใต้
    • ปี 2020 เฉลี่ย 144 ครั้งต่อคนต่อปี
    • ปี 2022 เฉลี่ย 196 ครั้งต่อคนต่อปี
    • อัตราเติบโต 11.0% ต่อปี
  3. จีน
    • ปี 2020 เฉลี่ย 1,061 ครั้งต่อคนต่อปี
    • ปี 2022 เฉลี่ย 1,318 ครั้งต่อคนต่อปี
    • อัตราเติบโต 7.5% ต่อปี
  4. อินโดนีเซีย
    • ปี 2020 เฉลี่ย 109 ครั้งต่อคนต่อปี
    • ปี 2022 เฉลี่ย 129 ครั้งต่อคนต่อปี
    • อัตราเติบโต 5.7% ต่อปี
  5. สิงคโปร์
    • ปี 2020 เฉลี่ย 533 ครั้งต่อคนต่อปี
    • ปี 2022 เฉลี่ย 579 ครั้งต่อคนต่อปี
    • อัตราเติบโต 2.8% ต่อปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเพิ่มเติมว่า ปัจจัยหนุนการเติบโตของการใช้จ่ายออนไลน์ในไทย มี 3 อย่าง คือ

  1. มาตรการ Promptpay และ Thai OR Code
  2. การพัฒนาแอปพลิเคชั่น Mobile Banking ที่ตอบโจทย์การทำธุรกรรมทุกรูปแบบ
  3. คนไทยคุ้นชินกับการใช้จ่ายออนไลน์ขึ้นนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19

ทั้งนี้ ตัวเลขธุรกรรมดังกล่าว เป็นปริมาณธุรกรรมการใช้จ่ายออนไลน์ด้วย Internet Banking, Mobile Banking และ e-Money ต่อประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15-64 ปี

ย้อนดูปี 2566 แอปแบงก์ล่มถึง 18 ครั้ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมสถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับภาพรวมระบบขัดข้อง ตลอดปี 2566 พบว่า

  • ช่องทางโมบายแบงกิ้ง ขัดข้องจำนวนทั้งสิ้น 18 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 25 ชั่วโมง
  • ช่องทางอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง รวม 2 ครั้ง 5 ชั่วโมง
  • ช่องทาง ATM/CDM รวม 4 ครั้ง รวม 11 ชั่วโมง
  • ช่องทางสาขา จำนวนทั้งสิ้น 3 ครั้ง รวม 4 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน ยังมีไม้แข็งของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ขีดเส้นไว้ว่า ห้ามระบบแอปธนาคาร หรือโมบายแบงกิ้ง (Mobile Banking) ล่มเกิน 8 ชั่วโมง ภายในรอบ 1 ปีปฏิทิน (นับจากมกราคม-ธันวาคม ของปีนั้น) โดยมีการวางบทลงโทษตามระดับความรุนแรงเริ่มจากตักเตือน สั่งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข จนโทษสูงสุด คือโทษปรับสูงสุด 500,000 บาทต่อครั้ง และหากไม่ดำเนินการแก้ไขจะปรับเพิ่ม 5,000 บาทต่อวัน