บาทแข็งค่า นักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐ

ค่าเงินบาท

เงินบาทแข็งค่า นักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐและยุโรปในวันนี้ นอกจากนี้ตลาดยังจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ด้วย

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/2) ที่ระดับ 36.01/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (28/2) ที่ระดับ 36.04/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (28/2

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.14% สู่ระดับ 103.97 ขณะที่นักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐและยุโรปในวันนี้ โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2566 (ประมาณการครั้งที่ 2) ของสหรัฐปรับตัวลงสู่ 3.2% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 3.3%

อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงรอติดตาม ดัชนี PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.6% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน ม.ค. จากระดับ 0.2% ในเดือน ธ.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.9% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ม.ค. จากระดับ 0.2% ในเดือน ธ.ค.

นอกจากนี้ ตลาดจับตานายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ซึ่งจะกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ นายพาวเวลล์มีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 6 มี.ค. ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภา ในวันที่ 7 มี.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากพิธีลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา ซึ่งในปัจจุบัน ไทยกับศรีลังกามีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างในปี 2564-2566 เฉลี่ย 3,248 ล้านบาทต่อปี โดยไทยมีมูลค่าส่งออกไปศรีลังกาเฉลี่ย 2,975 ล้านบาทต่อปี และมีมูลค่านำเข้าจากศรีลังกาเฉลี่ย 273 ล้านบาทต่อปี

และจากการจัดทำ FTA ฉบับนี้ ศรีลังกาได้ลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรสำคัญให้ไทย เช่น ปลามีชีวิต ปลาทะเลแห้ง เครื่องปรุง กุ้งมีชีวิต สด/แช่เย็น เมล็ดพืชผักสำหรับเพาะปลูก อาหารสัตว์ และของปรุงแต่งที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และอาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปตลาดโลกสูง ในขณะที่ศรีลังกามีความต้องการนำเข้าจากตลาดโลก

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสให้สินค้าเกษตรไทยได้แต้มต่อทางภาษีในการเข้าสู่ตลาดศรีลังกาเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ทั้งนี้ สำหรับสินค้าเกษตรที่ไทยเปิดตลาดให้ศรีลังกา ส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น แป้งข้าวสาลี ชา มะพร้าวฝอย ปลาทูน่าแช่แข็ง อบเชย กุ้ง หมึกแช่แข็ง และกุ้งมีชีวิต/สด/แช่เย็น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น และจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในอนาคต

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่างินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/2) ที่ระดับ 1.0839/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (28/2) ที่ระดับ 1.0801/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0827-0.0852 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0847/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/2) ที่ระดับ 150.44/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (28/2) ที่ 150.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 0.710%

โดยตลาดคาดการณ์ว่า BOJ อาจยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษในเร็ว ๆ นี้ ภายใต้การกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปัจจุบัน BOJ กำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ -0.1% และกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 0% และยังคงซื้อสินทรัพย์จำนวนมาก เช่น พันธบัตรรัฐบาล อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 150.44-149.63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.79/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (29/2), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนมกราคมของสหรัฐ (29/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์จาก Jobun Bank ญี่ปุ่น (1/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการของจีน ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐ (1/3) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (1/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.00/-8.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.5/-4.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ