อีไอซี ชี้เศรษฐกิจไทยเจอ “3 ลด” หนุน กนง.หั่นดอกเบี้ยครั้งแรก เม.ย.นี้

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

อีไอซี เผยเศรษฐกิจไทยเผชิญ “3 ลด” ระบุจีดีพีปี 2567 ลดจาก 3% เหลือ 2.7% ด้านศักยภาพการเติบโต Potential Growth ระยะยาวลดจาก 3.4% เหลือ 2.7% หนุน กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง เหลือ 2.00% ต่อปี ย้ำลดดอกเบี้ยไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ช่วยสร้างบรรยากาศลงทุน แนะไทยเร่งพันธมิตรเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิต

วันที่ 14 มีนาคม 2567 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตช้า เปราะบาง และไม่แน่นอน โดยนอกจากเผชิญปัญหาโครงสร้างภายในประเทศแล้วยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างต่างประเทศด้วย ทั้งในส่วนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และปัญหาซัพพลายเชนของโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย

โดยประเด็นดังกล่าวนำมาสู่คำว่า “3 ลด” คือ 1.เศรษฐกิจไทยในระยะสั้นเติบโตลดลง โดย EIC ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2567 จากเดิม 3% เหลือ 2.7% ซึ่งเป็นการปรับตามศักยภาพการเติบโตที่ลดลง และ 2.ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Potential Growth) ลดลง ซึ่งในช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2560-2562 ระดับศักยภาพของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.4% และคาดการณ์ระยะยาวในปี 2567-2588 ระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียง 2.7%

และ 3.การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) เมื่อเศรษฐกิจระยะสั้นโตช้า และศักยภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวลดลง จึงนำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดย EIC คาดการณ์ว่า กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ จาก 2.50% ต่อปี เหลือ 2.00% ซึ่งจะปรับครั้งแรกในการประชุมวันที่ 10 เมษายนนี้ และอีกครั้งในเดือนมิถุนายน

โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวเป็นการปรับดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (Neutral rate) ที่ต่ำลง ซึ่ง EIC ประเมินว่า Neutral rate ของไทยได้ลดต่ำลงมาอยู่ที่ราว 2.13% จากระดับเดิม 2.52%

อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องของปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่จะเป็นการเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนที่จะสร้างจุดคุ้มในระยะยาว แต่การลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะต้องทำควบคู่กับการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อด้วย เพื่อให้เกิดการลงทุน แต่หากลดดอกเบี้ยเพื่อไม่กระตุ้นการบริโภคไม่มีความจำเป็น รวมถึงไทยจะต้องออกไปหาพันธมิตร (Partner) ข้างนอก ซึ่งการเจรจาไม่ได้เป็นการขยายตลาดใหม่ แต่เป็นการเจรจาเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิต

“ลดดอกเบี้ยมีความจำเป็น ไม่ใช่การเหยียบเบรกหรือถอนคันเร่ง แต่เป็นการสร้างบรรยากาศในการลงทุน เพื่อให้เงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ต้องทำควบคู่กับการเข้าถึงสินเชื่อ และเงินที่ได้มาต้องช่วยเรื่องลงทุนมากกว่าการบริโภค

ดังนั้น เงินเฟ้อไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้ กนง.ลดดอกเบี้ย เพราะมองว่าเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.นี้จะเริ่มกลับมาเป็นบวกแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ กนง.ลดดอกเบี้ยจะเป็นเรื่องของศักยภาพของเศรษฐกิจที่ต่ำลงต่อเนื่อง จากระดับ 5% มาสู่ 3% และในระยะยาวเหลือ 2.7% ซึ่งศักยภาพหมายถึงทั้งในแง่ แรงงาน เครื่องจักร นวัตกรรม โดยรวมทำให้ผลิตภาพลดลงต่อเนื่องและลดลงเยอะ จึงทำให้ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง”

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) กล่าวว่า EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโต 2.6% ใกล้เคียงปีก่อน มุมมองปรับดีขึ้นจากแรงส่งที่ดีในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีในช่วงต้นปีนี้ โดยกิจกรรมในภาคบริการขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่กิจกรรมในภาคการผลิตเริ่มกลับมาขยายตัวจากที่หดตัวต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกจะได้รับแรงสนับสนุนจากการค้าโลกที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นและอัตราเงินเฟ้อโลกที่ชะลอตัวลง แต่ยังมีแรงกดดันจากผลกระทบของภาวะดอกเบี้ยสูง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้ง

โดยธนาคารกลางกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักจะเริ่มปรับทิศการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น โดยไตรมาส 2 ปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง รวม 0.75% ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวม 1.00% ตามทิศทางเงินเฟ้อที่ปรับชะลอลง

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวม 0.20% ซึ่งเป็นการยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ขณะที่ธนาคารกลางจีนจะยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่อง

นางสาวปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) กล่าวว่า มองไปข้างหน้า ประเทศไทยมีความท้าทายสำคัญจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตอุตสาหกรรม แม้การผลิตในปี 2567 จะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้จากแรงส่งของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ฟื้นตัวตามอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แต่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยยังผูกโยงกับห่วงโซ่อุปทานเก่าอยู่มาก ประกอบกับการที่เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนและห่วงโซ่การผลิตจีนมากท่ามกลางกระแสภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงความสามารถของภาคการผลิตไทยในการปรับตัวกับห่วงโซ่การผลิตโลกใหม่และรูปแบบความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปได้ช้า ทำให้การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออกไทยยังทำได้ค่อนข้างจำกัด สะท้อนจากส่วนแบ่งยอดขายสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลกที่ยังใกล้เดิมมาตลอดทศวรรษ

ดังนั้น การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยให้สอดรับกับกระแสความยั่งยืน การยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน