สัญญาณเตือนจาก GDP

เตือน GDP
คอลัมน์ : เช้านี้ที่ซอยอารีย์
ผู้เขียน : ดร.พงศ์นคร โภชากรณ์ ([email protected])

ในที่สุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ก็แถลง GDP ของไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ออกมาแล้ว ปรากฏว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อปี ส่งผลให้ทั้งปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี ใกล้เคียงกับที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ในเดือนมกราคม 2567 ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ซึ่งถือว่าใกล้เคียงมาก

ผมลองวิเคราะห์ว่า GDP ไตรมาสที่ 4 นี้ส่งสัญญาณเตือนอะไรเราบ้าง

1.เราต้องระวังเศรษฐกิจถดถอย : ถ้าดูการขยายตัวของ GDP แบบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเห็นว่าไตรมาสที่ 4 ดีกว่าไตรมาส 3 แต่ถ้าดูแบบไตรมาส 4 เทียบกับไตรมาส 3 แล้วขจัดผลทางฤดูกาลออก จะพบว่า GDP ติดลบร้อยละ -0.6 แปลว่าเราอาจเข้าเกณฑ์เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ไปแล้วครึ่งตัว

หากไตรมาส 1 ปี 2567 เทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 ติดลบอีก เราก็เข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยทันที

2.แรงส่งการบริโภคจะอ่อนแรงลง : การบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นเดอะแบกเศรษฐกิจไตรมาส 4 เพราะขยายตัวถึงร้อยละ 7.4 ต่อปี แต่พอไปดูไส้ในพบว่า หลัก ๆ มาจากการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับร้านอาหารและที่พักแรมที่ขยายตัวถึงร้อยละ 35.4 ต่อปี ซึ่งตัวนี้น้ำหนักสูงเกือบร้อยละ 20 ของการบริโภคภาคเอกชน และการช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของรัฐบาล

ฉะนั้น การบริโภคดีเพราะท่องเที่ยวดี ถ้าการท่องเที่ยวกลับสู่ระดับปกติ (Normal Trend) บวกกับรัฐบาลคงช่วยตลอดไปไม่ได้ แรงส่งนี้จะแผ่วลง เราก็จะไม่เห็นการบริโภคที่ขยายตัวสูง ๆ อีกแล้ว

3.งบฯ ล่าช้าถือเป็นบทเรียนราคาแพง : การลงทุนรวมไตรมาส 4 หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี เกิดจากการลงทุนภาครัฐที่หดตัวถึงร้อยละ -20.1 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ร้อยละ 5.0 ต่อปี อันนี้เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปกติถึง 7 เดือน แต่ถ้าดูเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแล้วขจัดผลทางฤดูกาลออก ก็จะพบว่าการลงทุนติดลบ ทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน

โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ถดถอยไปแล้ว ทั้งการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร ฉะนั้น งบประมาณล่าช้าจึงถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่แลกมาด้วยการลงทุนภาครัฐที่ไม่ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

4.การหดตัวของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมครั้งนี้ยาวนานเท่ากับโควิด-19 : การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไตรมาส 4 หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี เป็นการหดตัวต่อเนื่องยาวนานถึง 5 ไตรมาส มากกว่าสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งที่หดตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาส ซับไพรมติดต่อกัน 4 ไตรมาส เท่ากับโควิด-19 ที่ติดต่อกัน 5 ไตรมาส และเป็นการถดถอยทางเทคนิคไปแล้ว

สถานการณ์นี้น่ากังวล เพราะตัวนี้มีน้ำหนักสูงถึงร้อยละ 26 ของ GDP สิ่งที่ชวนคิดคือ อุตสาหกรรมเรากำลังแย่ ไร้ศักยภาพ ไร้ขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงไม่เกิดการผลิตใช่หรือไม่ ดังนั้น ผมว่านี่คือปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจด้านอุปทานที่เรากำลังเผชิญ

5.ท่องเที่ยวกำลังจะหมดแรงขับเคลื่อน : เรื่องการท่องเที่ยวดูได้ 2 ทาง ทางแรกคือการส่งออกบริการ พบว่าไตรมาส 4 ขยายตัวได้ร้อยละ 14.7 ต่อปี สูงแต่แผ่วลงเร็วมาก จากร้อยละ 30.6 ต่อปี ในไตรมาส 3 อีกทางหนึ่งคือ ดูจากสาขาที่พักแรมและร้านอาหาร พบว่าไตรมาส 4 ขยายตัวได้ร้อยละ 10 ต่อปี นี่ก็แผ่วลงมาจากร้อยละ 15 ต่อปี ในไตรมาส 3 สะท้อนว่า

เมื่อผลกระทบจากโควิด-19 หมดไป การท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ระดับปกติ ขยายตัวไม่มากเหมือนตอนฟื้นจากโควิด-19 แล้ว การคมนาคมขนส่งและการบริโภคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะอ่อนแรงลงไปด้วย

น่าติดตามว่า ในระยะสั้นเราจะเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ในระยะยาวเราจะเหลือเครื่องยนต์อะไรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลจะรับมือสัญญาณเตือนนี้อย่างไร !!!

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด