อลิอันซ์ ปั้นเบี้ย 4.1 หมื่นล้าน ประกันสุขภาพท้าทาย “เด็ก” เคลมสินไหมพุ่ง

อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมปี 2567 แตะ 4.1 หมื่นล้าน เติบโต 13% เบี้ยรับปีแรกแตะ 8.3 พันล้าน โต 15% รุกหนักช่องทางตัวแทน นำร่องใช้มาตรฐานบัญชี IFRS17 ปลายปีก่อนบังคับใช้จริงต้นปี 2568 กาง 3 ปัจจัยท้าทาย ชี้ประกันสุขภาพ “เด็ก” เคลมพุ่ง

วันที่ 19 มีนาคม 2567 นายโทมัส วิลสัน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกัน ชีวิต (AZAY) เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกันชีวิตรับรวม (GWP) จะอยู่ที่ 41,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 13% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน และตั้งเป้าเบี้ยรับปีแรกรายปี (ANP) จะอยู่ที่ 8,300 ล้านบาท เติบโต 15% โดยแยกเป็น

  • เบี้ยรับปีแรกผ่านช่องทางตัวแทน 3,800 ล้านบาท เติบโต 18%
  • เบี้ยรับปีแรกผ่านช่องทางธนาคาร 2,700 ล้านบาท เติบโต 11%
  • เบี้ยรับปีแรกผ่านช่องทางขายตรง 1,600 ล้านบาท เติบโต 12%
  • เบี้ยรับปีแรกผ่านช่องทางประกันกลุ่ม 200 ล้านบาท เติบโต 6%

ยอมรับว่าเป็นเป้าที่ท้าทายมาก แต่ผลประกอบการไตรมาส 1/2567 มั่นใจว่าจะปิดได้ตามเป้า โดยในแง่ของช่องทางตัวแทน ยังคงสนับสนุนแคมเปญ franchise builder เพราะตัวแทนที่เข้าร่วมแคมเปญนี้ เติบโตเป็น 2.7 เท่าของตัวแทนที่ไม่เข้าร่วม และปีนี้ได้เพิ่มกลุ่มใหม่ชื่อว่า Transformer รวมทั้งมีโครงการ Blue Star และ Blue Star X ซึ่งเป็นโครงการสร้างตัวแทนเต็มเวลาแบบมืออาชีพ

โดยปีนี้จะโฟกัสสินค้าความคุ้มครองและสุขภาพ รวมถึงประกันควบการลงทุน คาดมีเบี้ยรับปีแรกจากสินค้าดังต่อไปนี้

  • ประกันสุขภาพ 1,663 ล้านบาท
  • ประกันโรคร้ายแรง 157 ล้านบาท
  • ประกันควบการลงทุนและสัญญาเพิ่มเติม 387 ล้านบาท
  • ประกันอื่น ๆ 1,663 ล้านบาท

ถัดมาในแง่ของช่องทางขายประกันผ่านธนาคาร ปัจจุบันเป็นพาร์ตเนอร์กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตอนนี้มีการทำงานร่วมกันในการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับฟีดแบคที่ดี จึงไม่น่าจะมีอะไรสะดุด ส่วนช่องทางขายตรงกำลังมีการพูดคุยกับพาร์ตเนอร์ใหม่เพิ่มเติม และช่องทางประกันกลุ่มเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ในตลาดและบริษัทก็มีพอร์ตที่ใหญ่ในตลาดด้วย แต่อย่างไรก็ตามเป็นช่องทางนึงที่จะต้องทำธุรกิจอย่างระมัดระวัง

ทั้งนี้ปีนี้บริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มยอดขายจากสินค้ายูนิตลิงก์ ให้มีสัดส่วนเป็น 10% ของพอร์ตผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทอีกด้วย

Advertisment

และบริษัทยังพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตต่อเนื่อง ด้วยการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพสูง โดยปลายปีนี้จะนำระบบมาตรฐานบัญชี IFRS17 มาใช้ก่อน ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะให้เริ่มใช้ต้นปี 2568 ซึ่งมีผลดีทำให้บริษัทมีมูลค่าและความมั่นคงทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น

“เรารายงานงบการเงินตามมาตรฐานนี้ภายในอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไรสูงขึ้น 2.4 เท่า และมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นสูงขึ้น 2.2 เท่า โดยมาตรฐานบัญชี IFRS17 เหมาะกับกลยุทธ์อนุรักษ์นิยมของอลิอันซ์ เพราะค่อนข้างระมัดระวังในการคาดการณ์กำไรเป็นเท่าไหร่ และมีเงินสำรองเพียงพอเพื่อป้องกันเหตุที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นตัวที่สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นของอลิอันซ์ออยุธยา

Advertisment

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ บริษัทในประเทศไทย เพราะวิธีการรายงานเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปเลย และถ้าเกิดการบริหารการเงินแต่ละบริษัทนั้น ไม่สอดคล้องกับวิธีการรายงานจะต้องปรับตัวค่อนข้างมาก”

ซีอีโออลิอันซ์ กล่าวต่อว่า ปีนี้ธุรกิจประกันชีวิตยังคงเผชิญความท้าทายจาก 1.GDP ของไทยฟื้นตัวระดับกลาง 2.ความผันผวนของตลาดเงิน และ 3.สินไหมสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็น 3 ปัจัจยที่กระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตเมื่อปีที่ผ่านมา

โดยประเด็นแรก เห็นจากมีการปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทย จาก 2.7% เหลือ 2.2% ซึ่งช่วงไตรมาส 1/2567 เริ่มเห็นความไม่แน่นอนออกมาแล้ว ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศและปริมาณของนักท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นกลับมาเทียบเท่ากับปี 2562 แต่คาดว่าภาคส่งออกน่าจะมาช่วยสร้างสมดุลตัวเลขเศรษฐกิจไทยได้

ประเด็นที่สอง สำหรับความผันผวนของตลาดเงิน จะขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก โดยหากกลางปีนี้หรือหลังจากนี้ มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยสวนทางตลาดคาดการณ์ เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ เมื่อนั้นจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่การลงทุนหุ้น

ประเด็นที่สาม สำหรับสินไหมสุขภาพที่สูงขึ้นทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) ส่วนใหญ่จะมาเป็นฤดูกาล โดยเฉพาะในหน้าฝน ช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.ของทุกปี โดยเคลม OPD อัตราการเคลมมาจากโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือโรคการป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple diseases) และจากสถิติสังเกตเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วหารเรียกร้องสินไหมจะเป็น “เด็ก” ดังนั้นการมีวัคซีนสำหรับเด็กและผู้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการเป็นโรค

และเคลม IPD เพิ่มขึ้นจากผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา ซึ่งสิ้นสุดของการกักตัวในช่วงโควิด ทำให้ยอดสูงขึ้นเพราะอั้นไว้จากช่วงนั้น โดยตัวเลขปี 2566 พบว่าความถี่ในการเรียกร้องเคลม OPD เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2565 และความถี่ในการเรียกร้องเคลม IPD เพิ่มขึ้น 38% จากปี 2565 และความรุนแรงในการเคลมสินไหมสุขภาพเพิ่มขึ้น 36% จากปี 2565

ทั้งนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับการบริการ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า โดยเฉพาะในเรื่องการคุ้มครองสุขภาพ โดยได้มีการจัดตั้งเครือข่าย Preferred Network เพื่อทำงานร่วมกับโรงพยาบาล เพื่อมอบบริการพิเศษให้กับลูกค้า นอกจากนั้นจะมีการเปิดให้บริการพิเศษใหม่ ๆ อาทิ บริการ Health concierge เพื่อดูแลลูกค้า นัดแนะและประสานงานกับโรงพยาบาลทั้งก่อนและหลังการเข้ารับการรักษา เป็นต้น ซึ่งน่าจะช่วยลดการเรียกร้องสินไหมสุขภาพลงได้

อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่ใช่แค่ 3 ปัจจัยนี้ ปลายปีนี้ยังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอเมริกา และการสู้รบในตะวันออกกลาง ผลกระทบจากจีน รวมถึงประเด็นการเมืองในประเทศ ดังนั้นถือว่าอยู่ในโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอน

ทั้งนี้ในปี 2566 บริษัทมีเบี้ยรับรวม  36,200 ล้านบาท เติบโต 6% มีเบี้ยรับปีแรกรายปี 7,300 ล้านบาท เติบโต 4% มาจากช่องทางตัวแทน 3,200 ล้านบาท ช่องทางขายผ่านธนาคาร 2,400 ล้านบาท ช่องทางขายตรง 1,400 ล้านบาท และประกันกลุ่มอีกประมาณ 170 ล้านบาท

ในด้านการขายผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นที่สุด มีการเติบโดต่อเนื่อง ทำให้บริษัทขึ้นแท่นเป็นที่ 3 ในตลาดประกันสุขภาพไทย

นอกจากนั้นในปีที่ผ่านมา ช่องทางตัวแทนของบริษัทมีการเติบโตในทุกมิติ โครงการสร้างตัวแทนมืออาชีพในระยะยาว โดยตัวเลขตัวแทนใหม่สูงถึงกว่า 9,300 คน เติบโตถึง 34% จำนวนตัวแทนที่มีผลงาน (active agent) เพิ่มสูงถึงกว่า 3,300 คน เติบโตขึ้น 13% จำนวนผู้บริหารตัวแทนระดับสูงได้รับการเลื่อนตำแหน่งถึง 34 คน ซึ่งถือว่าสูงมาก

อีกทั้งยังมีความสำเร็จในด้านการบริหารองค์รอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทมีเงินกองทุนสำรองที่มั่นคงถึง 306% ในส่วนความพึงพอใจของลูกค้าได้รับคะแนน NPS Score ที่ใช้วัดความพึงพอใจลูกค้าอยู่ในระดับ Loyalty Leader และได้คะแนน AES Score ที่ใช้วัดความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร สูงเป็นอันดับ 5 จากบริษัทในเครืออลิอันซ์ทั่วโลกกว่า 70 ประเทศ