เปิด 10 อันดับกองทุน “ทองคำ” ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สูงสุด 13.78%

ราคาทองคำ

มอร์นิ่งสตาร์ เผย 10 อันดับกองทุน “ทองคำ” ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สูงสุด 13.78%  มีกองทุนไหนบ้างเช็กเลย

วันที่ 19 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงต้นเดือนมีนาคม เรียกได้ว่าสินทรัพย์ทองคำปรับตัวขึ้นสูงเป็นอย่างมาก นักลงทุนต่างแห่เข้าซื้อเพื่อสะสมและขายทำกำไรกันอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทองคำที่ดีดตัวเพิ่มขึ้น กองทุนที่ลงทุนในทองคำยังถือว่าจะสามารถช่วยบริหารความเสี่ยงของนักลงทุนได้ โดยบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) รายงานว่า “กองทุนทองคำ” มีผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 66-29 ก.พ. 67 ดังนี้

1.KKP GOLD ผลตอบแทน 13.78%

กองทุนเปิดเคเคพี โกลด์ จัดการกองทุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จํากัด โดยกองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหลักในต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว คือ SPDR Gold MiniShares Trust (กองทุนหลัก) โดยกองทุนหลักมีวัตถุประสงค์การลงทุนให้ผลการดําเนินงานของกองทุนสะท้อนผลการดําเนินงานของราคาทองคําแท่งหลังหักค่าใช้จ่ายของกองทุนหลักแล้ว ทั้งนี้ กองทุนจะลงทุนในกองทุนหลักโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

2.SCBGOLDE ผลตอบแทน 13.53%

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ (ชนิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) จัดการกองทุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด โดยกองทุนมีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามความเคลื่อนไหวของราคาทองคำแท่งที่เปิดเผยไว้อย่างแพร่หลาย โดยหน่วยงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมผู้ค้าทองคำในประเทศไทยหรือในระดับสากล และกองทุนจะสร้างผลตอบแทนโดยอ้อมผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำต่างประเทศ คือ SPDR Gold Trust

3.SCBGOLD ผลตอบแทน 13.03%

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ (ชนิดสะสมมูลค่า) จัดการกองทุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด กองทุนมีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามความเคลื่อนไหวของราคาทองคำแท่งที่เปิดเผยไว้อย่างแพร่หลาย โดยหน่วยงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมผู้ค้าทองคำในประเทศไทยหรือในระดับสากล และกองทุนจะสร้างผลตอบแทนโดยอ้อมผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำต่างประเทศ คือ SPDR Gold Trust

4.BGOLD ผลตอบแทน 12.77%

กองทุนเปิดบัวหลวงโกลด์ฟันด์ จัดการกองทุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด กองทุนมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของ SPDR Gold Trust (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV และกองทุนหลักเน้นการลงทุนในทองคำแท่งเพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุนหลังหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดการทั้งหมดของกองทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำ กองทุนหลักจัดตั้งและจัดการโดย World Gold Trust Services, LLC

5.BGOLDRMF ผลตอบแทน 12.55%

กองทุนเปิดบัวหลวงโกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพ จัดการกองทุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ลงทุนในหน่วยลงทุนของ SPDR Gold Trust (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV และกองทุนหลักเน้นลงทุนในทองคำแท่งเพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุนหลังหักค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการจัดการทั้งหมดของกองทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำกองทุนหลักจัดตั้งและจัดการโดย World Gold Trust Services, LLC

6.TGoldRMF-UH ผลตอบแทน 12.43%

กองทุนเปิดธนชาตทองคำแท่งเพื่อการเลี้ยงชีพ-UH จัดการกองทุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด กองทุนมีนโยบายลงทุนโดยตรงในทองคำแท่ง (Physical gold หรือ Gold bullion) ในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของNAV เป็นทองคำแท่งที่มีมาตรฐาน กองทุนจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนมุ่งหวังให้ได้รับผลประกอบการเคลื่อนไหวตามดัชนีชี้วัด

7.TGoldBullion-UH ผลตอบแทน 12.27%

กองทุนเปิดธนชาตทองคำแท่ง-UH จัดการกองทุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด กองทุนมีนโยบายลงทุนโดยตรงในทองคำแท่ง (Physical gold หรือ Gold bullion) ในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของNAV เป็นทองคำแท่งที่มีมาตรฐาน กองทุนจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนมุ่งหวังให้ได้รับผลประกอบการเคลื่อนไหวตามดัชนีชี้วัด

8.KF-GOLD ผลตอบแทน 12.26%

กองทุนเปิดกรุงศรีโกลด์ จัดการกองทุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด กองทุนมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ชื่อ SPDR Gold Trust ซึ่งมีนโยบายที่มุ่งเน้นลงทุนในทองคำแท่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุนหลังหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดการทั้งหมดของกองทุนให้ไกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำ

9.BCAP-GOLD ผลตอบแทน 12.10%

กองทุนเปิดบีแคป โกลด์ จัดการกองทุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บางกอกแคปปิตอล จำกัด กองทุนมีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในต่างประเทศ ผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมทองคำต่างประเทศ และ/หรือกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำต่างประเทศ ตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไป เพื่อให้มี net exposure โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยมีสัดส่วนการลงทุนในแต่ละกองทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีกองทุนละไม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ซึ่งสัดส่วนการลงทุนในหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวะการลงทุนหรือการคาดการณ์สภาวะการลงทุนในแต่ละขณะ ทั้งนี้ กองทุนจะนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

10.UOBSG-N ผลตอบแทน 11.56%

กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท โกลด์ ชนิดไม่จ่ายเงินปันผล จัดการกองทุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดกำรกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด มีนโยบายและกลยุทธ์การลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR Gold Trust กองทุนหลักจัดตั้งและบริหารจัดการโดย World Gold Trust Services, LLC มุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามกองทุนหลัก โดยกองทุนหลักใช้กลยุทธ์การบริหารกองทุนเชิงรับ (Passive Management)

ด้าน นายวิน พรหมแพทย์ CFA, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงต้นเดือนมีนาคมแม้ทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง แต่ในช่วงกลางเดือนจะเห็นการปรับย่อลงของทองคำ จึงแนะนำผู้ลงทุนว่าหากเป็นกองทุนทองคำโดยทั่วไปมี 2 ประเภท คือ 1.แบบป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน และ 2.แบบไม่ป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน โดยในช่วงที่ผ่านมากองทุนแบบที่ไม่ป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ได้กำไร 2 ขั้น จากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นและกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตามมองว่าในระยะยาวหลังจากนี้แนะนำเบื้องต้นหากนักลงทุนยังไม่มั่นใจในทิศทางการลงทุนค่าเงินบาท แต่สนใจที่จะลงทุนในทองคำ แนะนำเลือกลงทุนแบบป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน อย่าง บลจ.กรุงศรีจะมีกองทุน กรุงศรีโกลด์เฮดจ์ (KF-HGOLD) เป็นกองทุนป้องกันความเสี่ยง

ทั้งนี้มองว่าทิศทางราคาทองคำหลังจากนี้ ไม่แนะนำให้เข้าไปลงทุนมากนัก เนื่องจากในปัจจุบันปรับขึ้นมาในระดับที่สูงแล้ว  แต่หากนักลงทุนอยากซื้อเก็บเพื่อสะสมในระยะยาวก็แนะนำรอซื้อได้ มองที่ระดับประมาณ 2,000 เหรียญ ก็สามารถเข้าซื้อได้ ทั้งนี้แนะนำสัดส่วนไม่ควรเกิน 5% ของพอร์ต สำหรับในปีนี้ยังมองว่าประเภทกองทุน ตราสารหนี้โลก จากที่อัตราผลตอบแทนรัฐบาลของสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง