ดอลลาร์อ่อนค่า หลังเฟดคงดอกเบี้ยตามคาด ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/3) ที่ระดับ 35.93/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (20/3) ที่ระดับ 36.17/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี

โดยการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์และเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฎจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 2565 ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดยังคงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค. 2566

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2568 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ลดลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค. 2566 ส่วนในปี 2569 เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค.

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งหลังจากปี 2569 จนกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ราว 2.6% ใกล้กับ “อัตรากลาง” ซึ่งจะเป็นระดับที่ไม่ผ่อนคลายหรือเข้มงวดทางการเงิน ส่วนการคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐนั้น เฟดปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐสู่ระดับ 2.1%, 2.0% และ 2.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 จากเดิมคาดการณ์ในเดือน ธ.ค. 2566 ที่ระดับ 1.4%, 1.8% และ 1.9% ตามลำดับ ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8%

นอกจากนี้เฟดคาดการณ์อัตราว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 4.0%, 4.1% และ 4.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.1%, 4.1 และ 4.1% ตามลำดับ ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.1% ขณะเดียวกันเฟดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2.6%, 2.2% และ 2.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.4%, 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.89-36.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่้อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/3) ที่ระดับ 1.0935/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (20/3) ที่ระดับ 1.0837/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจนั้น สำนักงานสถิติกลางของเยอรมนีรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเยอรมนีลดลงสู่ระดับ -4.1 ในเดือน ก.พ. 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ลดลงที่ระดับ -4.4% ในเดือน ม.ค.

ขณะที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะลดลงที่ระดับ -3.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PPI ลดลงสู่ระดับ -0.4% ในเดือน ก.พ. สวนทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.2% ในเดือน ม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงที่ระดับ -0.1% โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0888-1.0942 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0893/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/3) ที่ระดับ 150.40/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (20/3) ที่ 151.69/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ (21/3) ว่า

ญี่ปุ่นกำลังจับตาความเคลื่อนไหวในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนหากจำเป็น หลังจากเงินเยนดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดที่ 151.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ในตลาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก แม้ว่า BOJ ได้ประกาศยุตินโบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมเมื่อวันอังคาร (19/3) ที่ผ่านมาก็ตาม นอกจากนี้การส่งออกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.8% ในเดือน ก.พ.เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นที่ระดับ 5.3% แต่ชะลอตัวลงจากเดือน ม.ค.

ซึ่งพุ่งขึ้นสู่ระดับ 11.9% ตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าลดลงเหลือ 3.794 แสนล้านเยนในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขาดดุลการค้า 8.102 แสนล้านเยน และขาดดุลน้อยกว่าในเดือน ม.ค.ที่ขาดดุลถึง 1.76 ล้านล้านเยน โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกไปจีนและสหรัฐที่เพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็น 2 ประเทศหลักที่ทำให้ดุลการค้าของญี่ปุ่นดีขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 150.27-151.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.17/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (21/3), ดัชนีการผลิตเดือน มี.ค.ของสหรัฐ จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (21/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือน มี.ค.ของสหรัฐ จากเอสแอนด์พี โกลบอล (21/3), ยอดขายบ้านมือสองเดือยน ก.พ.ของสหรัฐ (21/3), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ก.พ.ของสหรัฐ จาก Conference Board (21/3), อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.ของญี่ปุ่น (22/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.ของอังกฤษจากสถาบัน Gfk (22/3), ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน มี.ค.ของเยอรมนีจากสถาบัน Ifo (22/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.4/-9.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.5/-7.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ