ซีอีโอไทยพาณิชย์ เผยแบงก์เจ้าหนี้อนุมัติวงเงินเสริมสภาพคล่อง ITD ได้ไปต่อ เริ่มจ่ายค่าแรงคนงาน ขณะที่หุ้นยักษ์รับเหมาตีปีกรับงบฯปี’67 ทะลักช่วงไตรมาส 2-3 จับตา TOR ประมูลโปรเจ็กต์คลอดกว่า 3.5 แสนล้าน โบรกฯชี้รายใหญ่คู่แข่งประมูลน้อยลงหลัง “ITD” ประสบปัญหาสภาพคล่อง คาดโครงการขนาดกลาง-เล็กแข่งขันสูง เหตุซับคอนแทรกต์ต้องเร่งประมูลให้ได้งานเพื่อเติมสภาพคล่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ตั้งแต่งวดไตรมาส 4/2566 โดยเริ่มมีสัญญาณชัดเจนเมื่อทางบริษัทไม่สามารถชำระคืนหนี้หุ้นกู้ได้ตามกำหนด ทำให้ช่วงกลางเดือนมกราคม 2567 บริษัทจึงได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 5 ชุด วงเงินรวม 14,455 ล้านบาท เพื่อขอเลื่อนไถ่ถอน ซึ่งเจ้าหนี้ได้ลงมติเลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปอีก 2 ปี
นอกจากนี้ก็เกิดปัญหาที่บริษัทไม่สามารถจ่ายค่าจ้างแรงงานบริษัทที่มีจำนวนกว่า 2 หมื่นคน ขณะที่ทางบริษัทก็พยายามเจรจากับทางสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อขอให้ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม
แบงก์อุ้ม ITD ไปต่อ
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินระบุว่า ธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับ ITD หลัก ๆ มี 4 แห่ง วงเงินรวม 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ธนาคารกรุงเทพ 8,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท 2.กสิกรไทย 6,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท 3.ไทยพาณิชย์ 6,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท และ 4.ธนาคารกรุงไทย 4,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท
โดยที่ผ่านมาธนาคารเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ต้องรอดูท่าทีธนาคารกรุงเทพที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด ว่าจะทำอย่างไร โดยปัญหาของ ITD มีข้อเรื่องหลัก ๆ ก็คือ 1.เงินลงทุนไปจมอยู่ในโครงการทวาย รวมถึงการขาดทุนโครงการในบังกลาเทศ และ 2.มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ โดยตอนนี้กระแสรายได้ของ ITD มีหลักพันล้านบาท แต่มีหนี้เป็นแสนล้านบาท ซึ่งหนี้ดังกล่าวจะแบ่งชำระตามกรอบเวลาที่ทยอยครบดีล โดยทางเลือกในการแก้ปัญหาอาจจะต้องปรับโครงสร้างหนี้ หรือแปลงหนี้เป็นทุน
ล่าสุด นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณี ITD ขณะนี้ทุกธนาคารให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ผ่านวงเงินสินเชื่อของตัวเอง รวมถึงการผ่อนผันเงื่อนไขตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือให้ ITD สามารถดำเนินกิจการไปต่อ
ทยอยจ่ายค่าจ้างแรงงาน
ขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่ถูกค้างจ่ายค่าจ้างว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา พนักงานตรวจแรงงาน ได้เชิญผู้แทนบริษัทมาพบเพื่อให้ข้อเท็จจริง และหารือร่วมกันถึงปัญหาการค้างจ่ายค่าจ้าง ตนได้มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมหารือ
โดยบริษัทให้ข้อเท็จจริงว่า บริษัทมีลูกจ้างทั้งหมด 20,188 คน และมีโครงการก่อสร้างกระจายอยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศไทย รวม 115 โครงการ กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น บริษัทยอมรับว่าเกิดจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหาโดยการขอสินเชื่อหรือขอกู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนภายในบริษัท โดยในปัจจุบันมีสถาบันทางการเงินเข้ามาสนับสนุนโครงการของบริษัทแล้ว จำนวน 79 โครงการ ทำให้สามารถจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างได้ตามปกติ สำหรับ 36 โครงการที่เหลือ
รวมถึงสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท อยู่ระหว่างติดต่อประสานกับสถาบันการเงินเข้ามาสนับสนุน ซึ่งผู้แทนบริษัทคาดว่าจะสามารถจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างได้ตามปกติประมาณเดือนเมษายน 2567
“รับเหมา” ฟื้นอานิสงส์งบฯ’67
นายภูวดล ภูสอดเงิน นักวิเคราะห์กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางหุ้นกลุ่มรับเหมาจะเริ่มมีงานใหม่เข้ามาจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งน่าจะเห็นโครงการทางด่วนสายใหม่จตุโชติและโครงการรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งจะเป็น 2 โครงการแรกที่จุดพลุเข้ามา แต่ภาพทั้งปีคาดว่ามี TOR งานประมูลออกมาประมาณ 3.5 แสนล้านบาท
ประมาณ 1-2 เดือนนี้ น่าจะเห็นโครงการใหญ่ออกมาสัก 1 โครงการ จึงเป็นโมเมนตัมบวกกับกลุ่มรับเหมา ทั้งนี้ ประเมินผลประกอบการหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 3 บริษัท ประกอบด้วย 1.บมจ.ช.การช่าง (CK) 2.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และ 3.บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง (CIVIL) จะมีรายได้รวม 76,645 ล้านบาท เติบโต 8% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และมีกำไรปกติ 2,491 ล้านบาท เติบโต 21%
โดยปีนี้การเติบโตหลัก ๆ มาจากมาร์จิ้นดีขึ้นจากฐานต่ำปีที่แล้ว ดังนั้นภาพกำไรจะไม่ได้น่าตื่นเต้นมากนัก สำหรับ CK คาดจะมีกำไรปกติ 1,749 ล้านบาท เติบโต 20% แต่โตมาจากธุรกิจเงินลงทุนเป็นหลัก ไม่ใช่เกิดจากธุรกิจรับเหมา ประกอบกับปลายปีที่แล้วมีการปรับ Project Value ของงานหลวงพระบาง ทำให้มาร์จิ้นต่ำกว่าปกติ ดังนั้นปีนี้มาร์จิ้นแค่ขยายตัว ทำให้กำไรเติบโตดีกว่ารายได้
ส่วน STEC จะมีกำไรปกติ 639 ล้านบาท เติบโต 26% ฟื้นตัวขึ้นมาแต่ระดับรายได้ยังทรงตัว ซึ่งเกิดจากฐานปีที่แล้วมีการปรับ “ต้นทุนโครงการ” มีการขาดทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง และงานอุโมงค์ชะลอเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุ เช่นเดียวกับ CIVIL คาดจะมีกำไรปกติ 103 ล้านบาท เติบโต 9% โดยรายได้จะโตสูงสุดในกลุ่มหนุนกำไร สาเหตุเพราะปีที่แล้ว งานบางส่วนชะลอ ซึ่งคล้าย ๆ กับ STEC ที่มีบางงานเกิดอุบัติเหตุ ทำให้รายได้ยังไม่ค่อยเข้ามา
ITD สะดุดคู่แข่งประมูลน้อยลง
นายภูวดลกล่าวว่า ปัจจุบันหุ้นที่น่าสนใจสุด คือ STEC เพราะสามารถรับงานได้อีกค่อนข้างมาก ขณะที่ CK มีงานเข้ามาค่อนข้างมากแล้ว ประกอบกับกรณี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง ทำให้คู่แข่งการประมูลงานใหญ่น้อยลง เพราะเวลาธนาคารจะให้ Bank Guarantee ก็จะเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งผู้รับเหมารายใหญ่ที่พอจะประมูลโครงการใหญ่ได้ต้องดูสภาพคล่องและงบดุล ซึ่งตอนนี้มีแค่ 2 ราย คือ CK ซึ่งมีกระแสเงินสดดีเพราะมีเงินปันผลจาก บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) กับ STEC ที่งบดุลออกมาดีเพราะหนี้สินน้อย จึงเป็น 2 บริษัทที่น่าจะมีโอกาสชนะประมูลถ้าเทียบกับผู้รับเหมารายอื่น
ส่วนโครงการขนาดกลางและเล็ก มูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท คาดว่าช่วงแรกที่มีงบประมาณออกมา น่าจะมีการแข่งขันพอสมควร เพราะว่าซับคอนแทรกเตอร์หลายราย ที่ไปซับให้กับ ITD เริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง ดังนั้นเมื่อมีโครงการขนาดกลางและเล็กที่สามารถเข้าประมูลได้ ก็อาจจะต้องรีบประมูลเอากระแสเงินสดกลับมาก่อน ดังนั้น ช่วงนี้หุ้นใหญ่จะน่าสนใจมากกว่าหุ้นขนาดกลางและเล็ก
งบฯทะลัก Q2-Q3
ขณะที่แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์อีกรายหนึ่งกล่าวว่า ภาพรวมกลุ่มรับเหมาก่อสร้างช่วงที่ผ่านมาเงียบเหงาพอสมควร จากการที่ภาครัฐไม่มีการเปิดประมูลเมกะโปรเจ็กต์ออกมาเลย สาเหตุหลักก็มาจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ส่งผลให้การอนุมัติงบประมาณปี 2567 ล่าช้าตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในเดือน เม.ย. 2567 ที่คาดว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 น่าจะผ่าน และภาครัฐน่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายในช่วงไตรมาส 2-3 เพื่อกระตุ้น GDP น่าจะเป็นเซนติเมนต์เชิงบวกที่ส่งผลให้มีโฟลว์ไหลเข้าในส่วนของกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง
“แม้จะมีประเด็นลบกดดันอยู่บ้าง นั่นคือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่พรรคเพื่อไทยพยายามปรับขึ้นไปที่ 400 บาท แต่คาดว่าผลกระทบดังกล่าวค่อนข้างมีจำกัด เพราะจากการสอบถามผู้รับเหมาก็จ่ายเกินค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ทำให้ผลกระทบจึงไม่มาก สรุปก็คือมีมุมมองเป็นบวกของกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง หลัก ๆ มาจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่น่าจะเร่งตัวมากขึ้น และจะส่งผลให้การก่อสร้างภาคเอกชนก็มีการฟื้นตัวตามขึ้นมา รวมไปถึงมาร์จิ้นดีขึ้นจากต้นทุนที่ลดลง”