PwC เผย 67% ซีอีโอไทยหวั่นธุรกิจตัวเองไปไม่รอดในทศวรรษหน้า เพราะอะไร

PwC

PwC เผยผลสำรวจ 67% ซีอีโอไทยไม่มั่นใจธุรกิจของตนจะไปรอดในทศวรรษหน้า หากดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิม ๆ หลังเจอแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ AI และมีซีอีโอแค่ 27% ที่มั่นใจว่ารายได้ของบริษัทของตนจะเติบโตกว่าปีที่ผ่านมา

วันที่ 28 มีนาคม 2567 รายงานข่าวจากบริษัท PwC ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยรายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นของซีอีโอไทยปีล่าสุดพบมุมมองของผู้บริหารต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้ยังคงมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดย 45% คาดว่าเศรษฐกิจเติบโตจะลดลง ขณะที่ 45% เชื่อว่าจะดีขึ้น และมีเพียง 27% เท่านั้นที่มั่นใจว่ารายได้ของบริษัทของตนในปี 2567 จะเติบโตกว่าปีที่ผ่านมา

67% ซีอีโอไทยไม่มั่นใจธุรกิจจะไปรอด

นอกจากนี้ 67% ของซีอีโอไทยยังแสดงความกังวลว่าธุรกิจของตนจะไปไม่รอดในอีก 10 ปีข้างหน้า หากยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ หลังเจอแรงกดดันจากกระแสการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และการเข้ามาของเทคโนโลยี GenAI

อย่างไรก็ดี ซีอีโอไทยมากกว่าครึ่ง (52%) ที่สำรวจเชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยปีนี้จะเติบโตกว่าปีก่อน โดยปัจจัยเสี่ยง 3 อันดับแรกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้า อันดับแรกคือ อัตราเงินเฟ้อ (30%) ความเสี่ยงทางไซเบอร์ (24%) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (21%)

นายพิสิฐ ทางธนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึง “รายงานผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 27 ฉบับประเทศไทย : นำธุรกิจมุ่งสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว” ว่าผลสำรวจของประเทศไทยในปีนี้แม้จะพบว่าซีอีโอไทยมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะเติบโตได้ แต่พวกเขากลับไม่มั่นใจว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตขึ้นจากปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องปรับรูปแบบธุรกิจ สินค้า และบริการเพื่อแสวงหาโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ ท่ามกลางภัยคุกคามและความท้าทายที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

สองเมกะเทรนด์โลกกดดันธุรกิจ

“การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นสองเมกะเทรนด์โลกที่จะยิ่งเข้ามาเพิ่มแรงกดดันในการทำธุรกิจให้กับซีอีโอมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเรามองไม่ต่างจากซีอีโอไทยส่วนใหญ่ว่า หากยังไม่มีการพลิกโฉมธุรกิจเพื่ออนาคตข้างหน้า ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า หลาย ๆ ธุรกิจไทยก็อาจจะไปไม่รอดในอีก 10 ปีข้างหน้า”

ทั้งนี้ รายงานฉบับประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของ “รายงานผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 27 ของ PwC” ที่ได้ทำการศึกษาและรวบรวมความคิดเห็นของซีอีโอทั่วโลกจำนวนทั้งสิ้น 4,702 ราย ซึ่งรวมถึงซีอีโอจากประเทศไทย จำนวน 33 ราย ระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม-10 พฤศจิกายน 2566

นายพิสิฐกล่าวว่า สำหรับปัจจัยเชิงบวกที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 น่าจะมาจากแนวโน้มการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามสัญญาณการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัว เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวภายหลังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นจากปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง เช่น การยกเว้นวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวในหลาย ๆ ประเทศ แต่ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 และอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม

ขณะที่ 73% ของซีอีโอไทยยังระบุว่า การขาดความสามารถด้านเทคโนโลยี ถือเป็นอุปสรรคอันดับแรกที่จะส่งผลต่อการพลิกโฉมองค์กร (ในระดับปานกลาง มาก หรือมากที่สุด) ตามมาด้วยสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ การลำดับความสำคัญของการปฏิบัติงานที่แข่งขันกัน และพนักงานขาดทักษะความสามารถที่ 57% เท่ากัน

58% ไม่ยอมรับผลตอบแทนที่ลดลง

ข้อมูลจากรายงานผลสำรวจของ PwC ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาซีอีโอไทยได้เร่งดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับซีอีโอทั่วโลกและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่แม้ว่า 79% ของซีอีโอไทยจะระบุว่า ตนกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

อย่างไรก็ดียังมีอีกหลายประเด็นที่ซีอีโอไม่มีแผนที่จะดำเนินการ เช่น 36% กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้วางแผนที่จะลงทุนในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโดยอิงธรรมชาติเป็นพื้นฐาน และอีก 36% ก็ไม่มีแผนที่จะนำความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมาผนวกเข้ากับการวางแผนทางการเงินของตนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ซีอีโอไทยมากกว่าครึ่ง (58%) ยังระบุว่า ตนไม่ยอมรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำกว่า จากการลงทุนที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ แสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ยังคงมีอยู่ของการออกนโยบาย หรือมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศ

36% นำ Gen AI มาใช้แล้ว

สำหรับการเข้ามาของ GenAI รายงานผลสำรวจของ PwC ระบุว่า 36% ของซีอีโอไทยกล่าวว่า ได้มีการนำ GenAI ไปใช้ในบริษัทของตนแล้ว ขณะที่ 24% ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทอันเนื่องมาจาก GenAI ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สอดคล้องกับตัวเลขทั่วโลกที่สัดส่วน 32% และ 31% และเอเชีย-แปซิฟิกที่ 33% และ 28%

นอกจากนี้ ซีอีโอไทยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อ GenAI โดย 52% เห็นด้วยว่า GenAI จะช่วยปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการในอีก 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ 61% กล่าวว่า GenAI จะเข้ามาเปลี่ยนวิธีที่ธุรกิจสร้าง ส่งมอบ และรวบรวมคุณค่าอย่างมีนัยสำคัญในอีกสามปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี 58% ของซีอีโอไทยเห็นตรงกันว่า GenAI จะส่งผลให้พนักงานภายในองค์กรของตนต้องหันมาพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อรองรับกับการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

“ถึงเวลาแล้วที่ซีอีโอไทยจะต้องนำพาธุรกิจของตนสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับความท้าทายและจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนและการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่ออนาคต รวมทั้งควรต้องบรรจุประเด็นเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในกระบวนการทำงานทั่วทั้งองค์กร และที่สำคัญ คือ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ และควรผนวกกรอบการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบเข้ากลยุทธ์ขององค์กร”