ITD เปิดเผยแล้วงบฯปี’66 ขาดทุน 1,072 ล้าน ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น

ITD

ส่งงบการเงินปี 2566 “อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” พบขาดทุนลดเหลือ 1,072 ล้านบาท หลังจากมีกำไรจากการขายทรัพย์สินที่ไม่ใช้ในการดำเนินงาน 2,249 ล้านบาท แต่ด้านผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น

วันที่ 29 มีนาคม 2567 นางนิจพร จรณะจิตต์ กรรมการรองประธานบริหารอาวุโส บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ในปี 2566 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิตามส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 1,072 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 3,686 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.รายได้จากการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง

ในปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง จำนวน 56,936 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 2,719 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการก่อสร้างของโครงการที่ใกล้แล้วเสร็จ อาทิ

โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ สัญญา 3 งานอุโมงค์รถไฟ โครงการอาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมถึงการปรับปรุงรายได้จากการให้บริการก่อสร้าง เนื่องจากต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้างบางรายการ ยังไม่ส่งมอบบริการให้แก่ลูกค้า ทำให้ยังไม่สามารถรับรู้เป็นรายได้จากการให้บริการก่อสร้าง และปรับปรุงต้นทุนดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ต้นทุนการทำงานให้เสร็จสิ้นตามสัญญา (อาทิ ค่าโครงสร้างชั่วคราว ค่าโครงสร้างงานรากฐาน ค่าบริหารสาธารณูปโภค-สิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายช่วงเตรียมงาน เป็นต้น)

2.รายได้จากการขายและให้บริการ

ในปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการขายและให้บริการ จำนวน 6,806 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 986 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของรายได้จากการให้บริการโครงการเหมืองแร่

3.ต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง

ในปี 2566 บริษัทมีต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง จำนวน 52,903 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 5,052 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้างของโครงการที่ใกล้จะแล้วเสร็จ รวมถึงการปรับปรุงต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้างบางรายการเป็นสินทรัพย์ต้นทุนการทำงานให้เสร็จสิ้นตามสัญญา

4.ต้นทุนในการขายและให้บริการ

ในปี 2566 บริษัทมีต้นทุนในการขายและให้บริการ จำนวน 6,850 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 57 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเนื่องจากบริษัทย่อยบางแห่งมีการขายสินค้าและให้บริการเพิ่มขึ้น จึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

5.กำไรขั้นต้น

ในปี 2566 บริษัทมีกำไรขั้นต้น จำนวน 3,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรขั้นต้น จำนวน 2,699 ล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2566 เท่ากับร้อยละ 6.26 เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับร้อยละ 4.00 เนื่องจากการกำไรเพิ่มขึ้นของบริษัทย่อยบางแห่ง รวมถึงการลดลงของผลขาดทุนจากการให้บริการก่อสร้างในต่างประเทศ

6.เงินปันผลรับและส่วนแบ่งกำไรในกิจการร่วมค้า

ในปี 2566 บริษัทมีเงินปันผลรับและส่วนแบ่งกำไรในกิจการร่วมค้า จำนวน 3 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 3 ล้านบาท

7.ดอกเบี้ยรับ

ในปี 2566 บริษัทมีดอกเบี้ยรับ จำนวน 224 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 78 ล้านบาท ที่ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยรับของบริษัทย่อย และสาขาในต่างประเทศ

8.กำไรจากการตีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน

ในปี 2566 บริษัทไม่มีกำไรจากการตีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ลดจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรจากการตีราคาอสังหาริมทรัพย์ เป็นจำนวน 184 ล้านบาท

9.กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์

ในปี 2566 บริษัทมีกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สิน จำนวน 2,249 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 2,249 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกำไรจากการขายทรัพย์สินที่ไม่ใช้ในการดำเนินงาน

10.กำไรจากการป้องกันความเสี่ยง

ในปี 2566 บริษัทไม่มีกำไรจากการป้องกันความเสี่ยง ลดจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรจากการป้องกันความเสี่ยง เป็นจำนวน 28 ล้านบาท

11.รายได้อื่น

ในปี 2566 บริษัทมีรายได้อื่น จำนวน 561 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 91 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นจากรายได้ค่าที่ปรึกษา ค่าบริหารโครงการ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นในกิจการร่วมค้า และบริษัทย่อยบางแห่ง

12.ค่าใช้จ่ายในการขาย

ในปี 2566 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขาย จำนวน 42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 5 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการขายของบริษัทย่อย

13.ค่าใช้จ่ายในการบริหาร

ในปี 2566 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการบริหาร จำนวน 3,124 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 252 ล้านบาท ส่วนใหญ่ เนื่องจากการลดลงของการขาดทุนทางบัญชีจากการขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งานในปีก่อนหน้า

14.ค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่า

ในปี 2566 บริษัทมีค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่า จำนวน 117 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 49 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าของบริษัทย่อยแห่งหนึ่งในต่างประเทศ

15.ขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุน

ในปี 2566 บริษัทไม่มีการขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุน ขาดทุนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 1 ล้านบาท

16.ขาดทุนจากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน

ในปี 2566 บริษัทขาดทุนจากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน จำนวน 65 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 65 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งานของบริษัทย่อย

17.ขาดทุนจากการตีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน

ในปี 2566 บริษัทขาดทุนจากการตีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน จำนวน 53 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 53 ล้านบาท เนื่องจากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนลดลง

18.ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ในปี 2566 บริษัทขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 103 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 80 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเนื่องจากการขาดทุนจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทในสินทรัพย์ของบริษัท

19.ขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมของตราสารอนุพันธ์

ในปี 2566 บริษัทขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมของตราสารอนุพันธ์ จำนวน 0.05 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 12 ล้านบาท

20.ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม บริษัทที่ควบคุมร่วมกันและกิจการร่วมค้า

ในปี 2566 บริษัทมีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม บริษัทที่ควบคุมร่วมกัน และกิจการร่วมค้า จำนวน 270 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 858 ล้านบาท การขาดทุนในงวดนี้ส่วนใหญ่เนื่องจากการขาดทุนของบริษัทที่ควบคุมร่วมกันแห่งหนึ่ง ซึ่งขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ

21.ต้นทุนทางการเงิน

ในปี 2566 บริษัทมีต้นทุนทางการเงิน จำนวน 2,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 484 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการมีเงินกู้ยืมระยะยาวเพิ่มขึ้น

22.ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้

ในปี 2566 บริษัทมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ จำนวน 684 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 14 ล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากภาษีเงินได้ของสาขาและกิจการร่วมค้าบางแห่งในต่างประเทศลดลง

23.การแบ่งปันขาดทุนสำหรับปี ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท

จากที่กล่าวข้างต้น ในปี 2566 บริษัทมีการแบ่งปันขาดทุนสำหรับปี ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 1,072 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 3,686 ล้านบาท

ทั้งนี้ตามที่ ITD ได้นำส่งงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31ธันวาคม 2566 ของบริษัทและบริษัทย่อย ซึ่งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัทได้ตรวจสอบและรับรองงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการของกลุ่มบริษัทและบริษัท โดยไม่แสดงความเห็นด้วยเหตุที่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท และบริษัท โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1.2 ระบุว่า สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 กลุ่มบริษัทและบริษัทมีขาดทุนหลังภาษีจำนวน 421.54 ล้านบาท และ 194.87 ล้านบาท ตามลำดับ และมีขาดทุนสะสมจำนวน 6,426.67 ล้านบาท และ 5,390.66 ล้านบาท ตามลำดับ (2565 : 4,475.58 ล้านบาท และ 3,622.58 ล้านบาท ตามลำดับ)

อีกทั้งมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนจำนวน 26,711.54 ล้านบาท และจำนวน 29,977.68 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่ ประกอบด้วย เงินกู้ยืมระยะสั้นจากตั๋วสัญญาใช้เงิน และทรัสต์รีซีต/เลตเตอร์ออฟเครดิต และเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน ที่ถูกจัดประเภทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น หุ้นกู้และหุ้นกู้ที่ถูกจัดประเภทเป็นหุ้นกู้ที่จะถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี

โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ในเรื่องการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งคำนวณจากงบการเงินรวมที่ถูกกำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินบางแห่ง จากการผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ดังกล่าวข้างต้น สถาบันการเงินมีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืม

ทั้งนี้ ธนาคารไม่ได้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับหนังสือจากสถาบันการเงินให้ความยินยอมและผ่อนผันเงื่อนไขในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 และวันที่ 18 มีนาคม 2567

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ากลุ่มบริษัทและบริษัทอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนการดำเนินงานธุรกิจและกลยุทธ์ทางการเงิน เพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่ากลุ่มบริษัทและบริษัทจะมีสภาพคล่องอย่างเพียงพอและมีความสามารถในการชำระหนี้เมื่อครบกำหนดและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยในด้านสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทและบริษัท ขึ้นอยู่กับการเรียกใช้สิทธิในการเรียกให้ชำระคืนเงินกู้ยืมของธนาคารและหุ้นกู้ ความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว

การจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการดำเนินงาน การปรับปรุงแผนธุรกิจและการดำเนินงานในอนาคต และความสามารถในการจ่ายชำระเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ได้ตามวันครบกำหนดใหม่ รวมถึงการสนับสนุนของวงเงินสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง และการเจรจาเรียกเก็บเงินค่าก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับการลงทุนในหลายโครงการ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแสดงถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญหลายประการ

ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กันและมีความเป็นไปได้ที่จะมีผลกระทบต่องบการเงินเพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทและบริษัท

บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า การที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการของกลุ่มบริษัทและบริษัท สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31ธันวาคม 2566 ไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหาร หรือผิดมาตรฐานการบัญชีไทย แต่เกิดจากผลกระทบต่อความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญตามสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น

ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนการธุรกิจและกลยุทธ์ทางการเงินเพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่ากลุ่มบริษัทและบริษัท จะมีสภาพคล่องอย่างเพียงพอและมีความสามารถในการชำระหนี้เมื่อครบกำหนดและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญดังนี้

1. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 บริษัทได้จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทั้งหมด 5 รุ่น ได้แก่ ITD242A, ITD24DA, ITD254A, ITD266A และ ITD24DB ซึ่งมียอดเงินต้นค้างชำระรวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 14,445 ล้านบาท โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติให้บริษัทขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แต่ละรุ่นออกไปอีก 2 ปีนับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม

รวมถึงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมข้อ 49.1 ทั้งนี้ เมื่อมีการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แต่ละรุ่นออกไปอีก 2 ปีนับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมแล้ว หนี้สินหมุนเวียนของบริษัท ที่ถึงกำหนดชำระใน 1 ปี ในไตรมาส 1 ของปี 2567 จะลดลง

นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่นได้มีมติอนุมัติผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วน ของผู้ถือหุ้นตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิ โดยให้มีผลตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชี 2566 จนถึงวันสิ้นสุดรอบปีบัญชี 2568 และผ่อนผันให้ผู้ออกหุ้นกู้ดำเนินการเจรจาหรือเข้าทำสัญญาใด ๆ กับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ

2. บริษัทได้ขอผ่อนผันเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำรงสัดส่วนทางการเงินกับสถาบันการเงินบางแห่งและได้รับการผ่อนผันการปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจากธนาคารแล้ว โดยบริษัทได้รับหนังสือแจ้งอนุโลมการปฏิบัติเงื่อนไขดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 และ 18 มีนาคม 2567 ตามที่ได้กล่าวถึงในหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมข้อ 49.2 ซึ่งจากการไม่สามารถดำรงสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นดังกล่าว สถาบันการเงินสถาบันการเงินมีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืม แต่สถาบันการเงินไม่ได้เนินการในลักษณะดังกล่าว

ดังนั้นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเรื่องการดำรงสัดส่วนทางการเงินดังกล่าวจึงไม่เป็นเหตุให้บริษัทปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญากู้ยืมเงินกับสถาบันการเงิน อนึ่ง บริษัทมีแนวทางการจัดการปัญหาการขาดสภาพคล่อง โดยบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการเจรจาข้อตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้ธนาคารหลักเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านสินเชื่อทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในปัจจุบันบริษัททยอยได้รับสินเชื่อมาบางส่วนแล้ว และคาดว่าบริษัท และกลุ่มเจ้าหนี้ธนาคารหลักจะตกลงเรื่องสัญญาการให้สินเชื่อจนเสร็จสิ้นเรียบร้อยเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

3. บริษัทอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนระบบการทำงานและระบบควบคุมเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันและมีกำไรจากผลการดำเนินงานโดยมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน และมีการรายงานผลประจำทุกเดือน และมีแผนการขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ในการดำเนินงานเพื่อลดภาระหนี้ของบริษัท

4. บริษัทเชื่อมั่นในศักยภาพและโอกาสที่จะได้รับงานโครงการก่อสร้างขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่ทางภาครัฐและเอกชนอยู่ระหว่างการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง เป็นจำนวนมาก ได้แก่ งานสร้างถนน ทางด่วน รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง การขยายสนามบิน ทั้งในปริมณฑลกรุงเทพและต่างจังหวัดหลัก เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ เป็นต้น

เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์และผลงานในอดีตที่สามารถแข่งขันได้ทุกประเภท ดังนั้น บริษัทจึงเชื่อมั่นว่าหากบริษัทได้รับงานโครงการก่อสร้างจากภาครัฐและภาคเอกชนดังกล่าว บริษัทก็จะสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง