หุ้นกู้มีปัญหา ยังไม่หมดสิ้น แต่ไม่กระทบความเสี่ยงเชิงระบบ สัดส่วนแค่ 1%

หุ้นร่วง

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ชี้หุ้นกู้มีปัญหา ยังไม่หมดสิ้น แต่ไม่กระทบความเสี่ยงเชิงระบบ สัดส่วนแค่ 1%

วันที่ 5 เมษายน 2567 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของมูลค่าคงค้างหุ้นกู้ที่มีปัญหา ยังถือว่าใกล้เคียงกับเมื่อช่วงสิ้นปี 2566 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 39,412 ล้านบาท (ไม่รวมหุ้นกู้ที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ มูลค่า 73,057 ล้านบาท) แยกเป็นหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (Default) มูลค่ารวม 22,295 ล้านบาท จำนวน 9 บริษัท และกลุ่มที่มีการขอปรับโครงสร้างหนี้อีกจำนวน 15 บริษัท

ทั้งนี้ปัญหาของหุ้นกู้ ถือเป็นปัญหาสะสมมาจากตั้งแต่โควิด เพราะฉะนั้นอาจจะต้องใช้เวลาอยู่เหมือนกัน ในการแก้ไขปัญหา เพราะประกอบกับทั้งเรื่องของปัญหาสภาพคล่องที่สะสมมาหลังโควิด และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างสูงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จึงอาจต้องใช้เวลาในการที่ภาคธุรกิจจะค่อย ๆ ฟื้นคืน

และหากอัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับลดลง จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เดิมมีความยากลำบากในการกลับตัว เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ได้บอกว่าหุ้นกู้ที่มีปัญหาจะหมดปัญหาไปในเร็ววัน อาจจะยังมีอยู่ แต่อย่างน้อยความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) อาจจะไม่ได้มีผลกระทบมากนักกับโครงสร้างของตลาดหุ้นกู้ทั้งระบบ

“เพราะหุ้นกู้ที่มีปัญหา ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มหุ้นกู้เสี่ยงสูง (High yield) อาจจะยกเว้นบางบริษัทที่มีการตกแต่งบัญชี แต่ว่านอกเหนือจากนั้นที่ผ่านมา เราจะเห็นเป็นกลุ่ม High yield คือเป็นหุ้นกู้ให้ผลตอบแทนสูงเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้ ถ้ามีความจริงใจในการแก้ปัญหา และขอเจรจากับเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ที่จะขอปรับโครงสร้างหนี้ โดยการยิืดอายุหุ้นกู้ ปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็ยังเชื่อว่ามีความหวัง หลังจากที่ธุรกิจเริ่มฟื้น ทิศทางดอกเบี้ยเริ่มลง มีโอกาสที่ธุรกิจเหล่านี้จะกลับมายืนได้

แต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าปัญหาหุ้นกู้จะหมดสิ้นไปเมื่อไหร่ เพราะคล้ายกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คือยังมีโอกาสที่จะได้เห็น แต่ว่าสุดท้ายเรามองในแง่ของภาพใหญ่ สัดส่วนของหุ้นกู้ที่มีปัญหา ไม่ถึง 1% ของตลาดหุ้นกู้ทั้งระบบ” นางสาวอริยากล่าว