แบงก์ชาติ แจงข้อกังวล “ดิจิทัลวอลเลต” ห่วง “แหล่งเงิน-กลุ่มเป้าหมาย-ระบบชำระ”

แบงก์ชาติ

ธปท.แจงข้อกังวลแจกเงินดิจิทัลวอลเลต “แหล่งที่มาของเงิน-กลุ่มเป้าหมาย-ระบบชำระเงิน” ย้ำแนวทางดูแลเสถียรภาพการเงิน-การคลังโดยรวม เชื่อนักลงทุนจับตาดู แม้สัดส่วนหนี้สาธารณะ 60% สะท้อนฐานะการคลังยังแข็งแรง

วันที่ 10 เมษายน 2567 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณี “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือดิจิทัลวอลเลต ว่า ธปท.แสดงความห่วงใยหลายประเด็นที่เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเลต โดยเฉพาะแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ให้ความกังวล เพราะเม็ดเงินที่ใช้ในโครงการจะต้องมีครบถ้วนในวันที่เริ่มต้นโครงการ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินตรา

ขณะที่แหล่งเงินที่มาของเงินตามมาตรา 28 จะต้องทำผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทางด้านสภาพคล่อง ซึ่งทางคลังได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าเป็นส่วนที่มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.เงินตราเช่นกัน

นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องที่ให้ความเป็นห่วง และเป็นเรื่องที่ ธปท.มีจุดยืนว่าต้องการให้ทำเฉพาะกลุ่ม (Targeting) เพื่อสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการคลังจนเกินไป

และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ธปท. คือเรื่องของระบบชำระเงิน ซึ่งเป็นระบบเปิดใหม่ และเป็นแบบ Open Loop ซึ่งมีความซับซ้อน ใช้เวลา ใช้ทรัพยากรในการทำ โดย ธปท.อยากเห็นระบบที่มีความเสถียรและปลอดภัย รวมทั้งต้องดูแลข้อมูลส่วนบุคคลได้ และป้องกันในเรื่องของภัยไซเบอร์ เพราะอาจจะมีผลต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงิน

“เรื่องดิจิทัลวอลเลตที่ ธปท.ได้หยิบยกประเด็นขึ้นมา คือเสถียรภาพการเงินและการคลังโดยรวม เราอยากเห็นแนวทาง หากการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น โดยหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะปานกลางจะมีแนวทางปรับลงมาอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากเห็น และได้มีการพูดคุยกันระดับหนึ่งไปแล้ว และเป็นอีกเงื่อนไขที่สำคัญ”

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า สำหรับความกังวลต่อการใช้เม็ดเงินในโครงการดิจิทัลวอลเลตที่อาจจะกระทบต่อฐานะทางการคลังว่า ฐานะทางการคลังที่มั่นคงเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ หากมีความไม่แน่ใจในฐานะทางการคลังอาจจะเกิดปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงได้ เช่นที่เกิดในสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ ฐานะทางการคลังเป็นหนึ่งในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ขาดไม่ได้ ซึ่งนโยบายการเงินก็ต้องดูเรื่องนี้ให้รอบคอบด้วย โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระดับ 60% ต้น ๆ ไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets)

“ปัจจุบันฐานะทางการคลังไทยยังเข้มแข็งอยู่ แต่ที่สำคัญคือ แนวโน้มในระยะข้างหน้า ฐานะทางการคลังจะเป็นอย่างไร นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศก็จับตาดู ซึ่งขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายของภาครัฐในอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่าย การเก็บรายได้ โครงสร้างภาษี ในวันนี้จุดยืนทางการคลังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง ซึ่งในระยะข้างหน้าก็ต้องระวังตรงนี้ด้วย”