สรุปวิธีใช้เงินดิจิทัล และเงินสด 10,000 บาท ใครขึ้นเงินสดได้บ้าง

เงินดิจิทัล

เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ประชาชน 50 ล้านคน จะได้รับและจ่ายเงินพร้อมกันในช่วงเดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นไป คนรับเงินแจก คนซื้อ และพ่อค้าคนที่ 1 ไม่สามารถขึ้นเงินสดได้ ใครจะได้ขึ้นเงินสดคนสุดท้าย

วันที่ 11 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวคิกออฟโครงการแจกเงิน 10,000 บาทไปแล้วเมื่อวานนี้

แต่สิ่งที่ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ และค้นหาข้อสรุปว่า วิธีการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท เมื่อได้รับวงเงินมาแล้ว จะใช้จ่ายอย่างไร และใครจะได้เป็นคนขึ้นเงินสดเป็นคนสุดท้าย สรุปวิธีการใช้เงินดิจิทัล และเงินสดได้ ดังนี้

สรุปวิธีใช้เงินดิจิทัล และเงินสด 10,000 บาท

1. ประชาชน 50 ล้านคน ได้รับเงินดิจิทัล มูลค่า 10,000 บาท จากรัฐบาล
2. ประชาชนลงทะเบียน เริ่มใช้สิทธิ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ภายใน 6 เดือน
3. ประชาชนนำเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่อยู่ในซูเปอร์แอป ไปซื้อของ ในเขตอำเภอตัวเอง 878 แห่ง
4. พ่อค้า แม่ค้า ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นในชุมชน สแตนด์อะโลน ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน (พ่อค้า แม่ค้า คนที่ 1 รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท)
5. พ่อค้า แม่ค้า ร้านขนาดเล็ก คนที่ 1 ไม่สามารถนำเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไปขึ้นเงินสด
6. พ่อค้า แม่ค้า คนที่ 1 ต้องนำเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ได้จากประชาชน ไปซื้อสินค้าต่อจากพ่อค้าคนที่ 2 ได้ในทุกขนาดร้านค้า อาจจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีกได้ทั่วประเทศ
7. พ่อค้า แม่ค้า คนรับเงินคนที่ 3 ที่อยู่ในระบบภาษี VAT และภาษีนิติบุคคล นำเงินดิจิทัลที่ได้ทั้งหมด ไปขึ้นเงินสด

พ่อค้ารายใหญ่ได้เงินสดคนสุดท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการประชุมร่วมกับร้านค้าปลีกต่าง ๆ ว่าจะมีการกำหนดร้านค้าประเภทใดบ้างที่จะได้เข้าร่วมโครงการ โดยจะพิจารณาขนาดของร้านค้า ทั้งร้านค้าที่เป็นผู้รับเงินดิจิทัล คนที่ 1 ส่วนขนาดของร้านค้าที่จะรับเงินดิจิทัล คนที่ 2 และคนที่ 3 ไม่มีการกำหนดขนาด และพื้นที่ใช้เงินสามารถใช้เงินดิจิทัลได้ทั่วประเทศ ซึ่งร้านค้า พ่อค้า ที่จะได้ขึ้นเงินสดเป็นคนสุดท้าย จะเป็นร้านค้ารายใหญ่ ที่พ่อค้า แม่ค้า นำเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไปซื้อของต่ออีก 1 ทอด