พลิกธุรกิจ ด้วยศาสตร์มนุษยสัมพันธ์ขั้นเทพ

exposure-business
คอลัมน์ : Smart SMEs
ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ กรุงศรี SME

ในช่วงนี้เป็นช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ปกติจะจัดขึ้นปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนของทุกปี ทำให้นึกถึงหนังสือที่ขึ้นหิ้งคลาสสิกชื่อว่า “How to Win Friends and Influence People” ของ Dale Carnegie เป็นหนึ่งในหนังสือที่ได้รับความนิยมและมีอิทธิพลมากที่สุดในโลกของการพัฒนาตนเองและการบริหารจัดการ

โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1936 จนปัจจุบันได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ และขายได้มากกว่า 30 ล้านเล่ม จนได้รับการยกย่องจากนักธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูง และผู้นำองค์กรชั้นนำของโลก ด้วยแนวคิดหลักการที่ไม่เคยล้าสมัย ทำให้หนังสือเล่มนี้จะยังคงเป็นที่ต้องการและได้รับการกล่าวถึงในฐานะหนังสือคลาสสิกประเภทธุรกิจและการพัฒนาตนเองมาจนถึงปัจจุบัน

โดยการเป็นผู้นำในโลกของธุรกิจนั้น ความสามารถในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น นับเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง ซึ่งหนึ่งในหลักการสำคัญที่หนังสือได้กล่าวถึงคือ การให้ความสนใจและแสดงความเห็นใจกับผู้อื่นอย่างจริงใจ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องฟัง

รวมถึงเข้าใจความคิดเห็นและความรู้สึกของพนักงานและลูกค้า มีใจจดจ่ออยู่กับการสนทนา จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและความร่วมมือที่ราบรื่น ในทางตรงกันข้าม การขาดความใส่ใจ หรือการพูดคุยโดยไม่ได้ฟังอีกฝ่ายจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ง่ายในองค์กร

นอกจากนี้ การให้คำชมเชยและยกย่องผู้อื่นอย่างจริงใจยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างแรงจูงใจและความผูกพันต่อองค์กรให้แก่พนักงาน เมื่อมีการชื่นชมการทำงานที่ดีอย่างสมควร จะทำให้พนักงานรู้สึกได้รับการยอมรับ เกิดความภาคภูมิใจ และมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คำชมเชยจะต้องมาจากความจริงใจและมีเหตุผล มิฉะนั้นจะถูกมองว่าเป็นเพียงการหลอกลวง

ในขณะเดียวกัน การวิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิผู้อื่นต่อหน้านั้น เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากจะทำให้เกิดความอับอายและรู้สึกถูกท้าทาย ซึ่งอาจนำไปสู่การโต้แย้งและขัดแย้งภายในองค์กร หากจำเป็นต้องให้คำแนะนำหรือการวิจารณ์ ควรกระทำด้วยวิธีการที่สุภาพและสร้างสรรค์ การพูดคุยกันอย่างเปิดเผย เคารพซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายแสดงความคิดเห็นด้วย จะช่วยให้ข้อเสนอแนะหรือการวิจารณ์ได้รับการยอมรับและนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขที่เป็นประโยชน์

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ คือ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี การแสดงออกถึงความเป็นมิตร การเคารพนับถือผู้อื่น พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยใจที่เปิดกว้าง จะช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่ผ่อนคลาย เต็มไปด้วยความไว้วางใจ เมื่อพนักงานรู้สึกสบายใจและปลอดภัยที่จะแสดงความคิดเห็น ก็จะมีส่วนช่วยให้องค์กรสามารถระดมความคิดสร้างสรรค์และแนวทางใหม่ ๆ ได้มากขึ้น

โดยหัวใจสำคัญของการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี คือ การเป็นผู้ฟังที่ดี การฟังอย่างตั้งใจจะทำให้เราสามารถเข้าใจผู้อื่นได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เรียนรู้ความรู้สึกและความคิดเห็นด้านลึกของพวกเขา เมื่อผู้อื่นรู้สึกว่าเราให้ความสนใจกับสิ่งที่พวกเขาพูด ก็จะเกิดความรู้สึกที่ดีต่อเรา

องค์ประกอบสุดท้าย คือ การใช้วิธีการเจรจาต่อรองที่สร้างสรรค์ (Constructive Negotiation) จะช่วยให้การบริหารจัดการธุรกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความคิดเห็นหรือผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน แทนที่จะปฏิเสธความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้ามหรือยึดติดกับความคิดของตนเองเพียงอย่างเดียว

การพิจารณาจุดยืนของอีกฝ่ายด้วยความเคารพ พร้อมทั้งเปิดใจรับฟังและหาข้อยุติที่เป็นการประนีประนอมและได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายรู้สึกพึงพอใจและมีความเต็มใจที่จะร่วมมือกันมากขึ้น การเจรจาต่อรองอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นการแสวงหาวิธีแก้ปัญหาที่รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย สร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน และนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

การเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจไม่ได้อยู่ที่อำนาจหรือความเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่น หนังสือ “How to Win Friends and Influence People” จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจหลักการ และนำมาใช้เพื่อให้ธุรกิจของท่านเติบโตได้อย่างยั่งยืน