เปิดเกณฑ์ใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ หุ้นเข้าดัชนี SET50-SET100

ตลาดหุ้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึง 26 เม.ย. 2567 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นเข้าดัชนี SET50 และ SET100 ใหม่ให้สอดรับสากล ปรับเกณฑ์ Trading Value เป็นไม่น้อยกว่า 25% Turnover Ratio ไม่น้อยกว่า 1%

วันที่ 18 เมษายน 2567 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์ของดัชนี SET50 และ SET100 ใหม่ โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) ไปจนถึงวันที่ 26 เมษายน 2567

เนื่องจากดัชนี SET50 และ SET100 จัดทำขึ้นเพื่อเป็นดัชนีที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของราคากลุ่มหลักทรัพย์ที่มีขนาด Market Capitalization ใหญ่ และมีสภาพคล่องสูง ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Performance Benchmark) หรือใช้เป็นดัชนีอ้างอิง (Underlying Index) ในการออกตราสารทางการเงินต่าง ๆ

เช่น ตราสารอนุพันธ์กองทุนรวม และกองทุนรวมอีทีเอฟ เป็นต้น เพื่อให้ดัชนีสะท้อนวัตถุประสงค์ของการจัดทำสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ดัชนี และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการทบทวนและพัฒนาหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯมาโดยตลอด

โดยมีข้อสังเกตว่า สภาพการซื้อขายของหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกณฑ์การคัดเลือกด้านสภาพคล่องของดัชนี SET50 และ SET100 ในปัจจุบันมีข้อจำกัดในการสะท้อนการเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์และผลตอบแทนตามวัตถุประสงค์ในการจัดทำดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันเกณฑ์การคัดเลือกด้านสภาพคล่องของดัชนี SET50 และ SET100 จะพิจารณาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ มูลค่าการซื้อขาย (Trading Value) ที่สะท้อนความสามารถในการรองรับมูลค่าเงินที่ต้องการจะลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ๆ และอัตราส่วนจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขาย (Turnover Ratio) ที่สะท้อนความพอเพียงของจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในกระดานซื้อขาย โดยหลักทรัพย์ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องผ่านเกณฑ์คัดเลือกอย่างน้อย 9 ใน 12 เดือน

จะมีการกำหนดระดับเริ่มต้นในการพิจารณาสภาพคล่องในแต่ละปัจจัย และอาจมีการปรับลดระดับในการพิจารณาลงเพื่อให้ได้จำนวนหลักทรัพย์ที่ผ่านตามเกณฑ์อย่างน้อย 105 หลักทรัพย์ในแต่ละรอบการคัดเลือก
ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะตลาด

ปัจจุบันพบว่าสภาพการซื้อขายของหลักทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เช่น กลุ่มหลักทรัพย์ที่มีขนาด Market Capitalization ใหญ่ มักจะเป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูง (Trading Value) แต่มีแนวโน้มที่มีอัตราส่วนจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขาย (Turnover Ratio) ที่ต่ำกว่าหลักทรัพย์ที่มีขนาดเล็กกว่า เป็นต้น

โดยแม้จะเป็นหุ้นในกลุ่ม SET100 ก็ยังพบว่ามีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าภายใต้สภาพการซื้อขายในปัจจุบัน การกำหนดให้มีหลักทรัพย์สำรอง (Reserve List) 5 หลักทรัพย์ อาจส่งผลให้ต้องปรับลดระดับเกณฑ์สภาพคล่องที่ใช้คัดเลือกโดยไม่มีความจำเป็น เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ที่ต้องใช้หลักทรัพย์สำรองถึง 5 หลักทรัพย์

เพื่อให้มั่นใจว่าเกณฑ์การคัดเลือกที่ใช้เหมาะสมกับสภาพตลาดและสอดคล้องกับต่างประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงได้ศึกษาแนวทางการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกของผู้จัดทำดัชนีในต่างประเทศ เทียบกับหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะเกณฑ์ด้านสภาพคล่อง และการกำหนดหลักทรัพย์สำรองของดัชนี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกด้านสภาพคล่องของผู้จัดทำดัชนีในต่างประเทศ
เช่น MSCI และ FTSE จะกำหนดเป็นระดับขั้นต่ำที่ยอมรับได้ (Minimum Requirement) และคัดเลือกหลักทรัพย์ตามจำนวนหลักทรัพย์ในดัชนี

ในขณะที่หลักเกณฑ์การคัดเลือกดัชนี SET50 และ SET100 จะกำหนดค่าเริ่มต้นในระดับที่ค่อนข้างสูง และใช้การปรับลดระดับลงมา เพื่อให้สามารถคัดเลือกได้จำนวนหลักทรัพย์ที่ต้องการ ซึ่งรวมถึงองค์ประกอบดัชนี 100 หลักทรัพย์ และหลักทรัพย์สำรอง 5 หลักทรัพย์ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้จัดทำดัชนีในต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่จะประกาศรายชื่อหลักทรัพย์สำรองเมื่อเกิดเหตุและมีความจำเป็นที่ต้องหาหลักทรัพย์สำรองแทนที่หลักทรัพย์ที่หลุดออกจากดัชนี

จากการศึกษาแนวทางการจัดทำดัชนีในต่างประเทศ ประกอบกับสภาวะการซื้อขายของไทยในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯเห็นว่าการกำหนดเกณฑ์ด้านสภาพคล่องในการคัดเลือกหลักทรัพย์ (Liquidity Criteria)

โดยพิจารณาทั้ง 2 ปัจจัยตามเกณฑ์ปัจจุบัน จะสร้างความมั่นใจว่าหลักทรัพย์ที่ผ่านการคัดเลือกมีสภาพคล่องที่เพียงพอ สำหรับผู้ลงทุนในแต่ละประเภท ทั้งในด้านมูลค่าเงินลงทุนและจำนวนหุ้นที่ต้องการซื้อขาย
ในขณะที่การกำหนดเฉพาะระดับ Minimum Requirement ในแต่ละปัจจัยนั้น จะสอดคล้องกับแนวทางสากล และมีความเหมาะสมกับสภาวะการซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแนวทางในการพิจารณาระดับ Minimum Requirement ที่เหมาะสมดังนี้

1.Trading Value : เกณฑ์ปัจจุบันกำหนดระดับ Trading Value เริ่มต้นไว้ที่ 50% และอาจลดลงครั้งละ 5% แต่ต้องไม่น้อยกว่า 20% ทั้งนี้ การกำหนดระดับเริ่มต้นอ้างอิงจากการสำรวจข้อมูลจาก Industry พบว่าหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนสามารถเข้าลงทุนได้โดยสะดวก ควรมีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 20 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งภายใต้สภาวะตลาดในอดีตจะเทียบเคียงได้กับ Trading Value ที่ระดับประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน พบว่าระดับ Trading Value ที่เทียบเคียงกับมูลค่าการซื้อขายตามข้างต้นอยู่ที่ประมาณ 25%

2.Turnover Ratio : เกณฑ์ปัจจุบันกำหนดระดับเริ่มต้นไว้ที่ 2% และอาจลดลงครั้งละ 0.5% แต่ต้องไม่น้อยกว่า 1% อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยสภาพตลาดที่ Turnover Ratio ของหุ้นมีแนวโน้มลดลง การเลือกใช้ระดับต่ำสุดที่กำหนดในเกณฑ์ปัจจุบันจะสอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปและเทียบเคียงกับระดับที่ผู้จัดทำดัชนีในต่างประเทศกำหนด

ดังนั้น เพื่อให้ดัชนี SET50 และ SET100 มีหลักเกณฑ์ที่มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน และมาตรฐานสากล รวมถึงสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดทำดัชนีได้ดียิ่งขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเห็นควร เสนอแนวทางการปรับปรุงสำหรับดัชนี SET50 และ SET100 ตามหลักการดังนี้

1.ปรับเกณฑ์สภาพคล่องในการคัดเลือกหลักทรัพย์อ้างอิงดัชนี SET50 และ SET100 โดยปรับวิธีการพิจารณาสภาพคล่องของหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีให้เกิดความชัดเจน และสอดคล้องกับแนวทางในต่างประเทศ โดยยังคงใช้ปัจจัยที่ใช้พิจารณาสภาพคล่องทั้งมูลค่าการซื้อขาย (Trading Value) และอัตราส่วนจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขาย (Turnover Ratio) ดังเช่นในปัจจุบัน

โดยมีข้อเสนอคือ ใช้ปัจจัยในการพิจารณาสภาพคล่องตามเดิม หากแต่ปรับปรุงวิธีการพิจารณาในลักษณะเดียวกับต่างประเทศ โดยการกำหนดเป็นค่า Minimum Requirement ของหลักทรัพย์ที่จะผ่านการคัดเลือกแทนดังนี้

  1. Trading Value ไม่น้อยกว่า 25%
  2. Turnover Ratio ไม่น้อยกว่า 1%
  3. กรณีได้จำนวนหลักทรัพย์ไม่ครบตามที่ดัชนีกำหนด สามารถปรับลดจำนวนเดือนที่ผ่านเกณฑ์สภาพคล่องได้ตามแนวทางที่กำหนด

2.ปรับปรุงแนวทางการประกาศหลักทรัพย์สำรองของดัชนี SET50 และ SET100 ด้วยเห็นว่าอาจไม่จำเป็นที่ต้องคัดเลือกหลักทรัพย์ให้ได้ 105 หลักทรัพย์

โดยข้อเสนอคือ 1.ยกเลิกการกำหนดจำนวนและประกาศรายชื่อหลักทรัพย์สำรองล่วงหน้าในรอบทบทวน และจะประกาศเมื่อมีเหตุการณ์ที่ต้องนำหลักทรัพย์มาแทนที่ในดัชนีให้ครบตามหลักการในปัจจุบัน 2.กำหนดหลักทรัพย์สำรองของดัชนี SET50 พิจารณาจากหลักทรัพย์ที่ผ่านการคัดเลือกลำดับที่ 51-100 และหลักทรัพย์สำรองของดัชนี SET100 พิจารณาจากหลักทรัพย์ที่ผ่านคุณสมบัติของดัชนีในรอบคัดเลือกเดียวกัน

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับใช้หลักการที่เสนอกับดัชนี SET50 และ SET100 รวมถึงดัชนี SET50FF และ SET100FF ที่ใช้หลักการคัดเลือกเดียวกัน พร้อมทั้งพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนี และจะเริ่มใช้ในรอบคัดเลือกเดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไป

บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) รายงานว่า มองเป็น Sentiment “บวก” ต่อหุ้นที่มี Trading Value และ Turnover Ratio ในปัจจุบันที่ไม่ถึงเกณฑ์เดิมที่กำหนด และหากไม่ปรับเกณฑ์จะมีโอกาสหลุดจาก SET50-SET100 อย่าง GULF, INTUCH, BJC, BTG, BLA, THG