ธปท.อ่านสัญญาณตลาด แบงก์ขยับขึ้นดอกเบี้ยนำ กนง.

ธปท.สแกนแบงก์ขยับดอกเบี้ยขึ้นก่อน กนง. ชี้แบงก์ล็อกต้นทุน ดบ.ฝากปลายปีก่อน เผยไตรมาส 2 สินเชื่อโตตามเศรษฐกิจ รายได้ค่าฟีโอนเงินหด

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ในช่วงปีนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่หากติดตามดูปลายปีที่แล้ว เริ่มเห็นเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษระยะเวลา 11-12 เดือน ปรับขึ้นมาค่อนข้างมาก อาจจะเป็นเพราะต้องการล็อกต้นทุนทางการเงินไว้ก่อน

“เห็นทิศทางโปรดักต์เงินฝากตัวยาวมา เพราะบางแบงก์กลัวดอกเบี้ยขาขึ้น เลยล็อกต้นทุนไว้ก่อน หรือเขาอาจมองโอกาสปล่อยสินเชื่อได้ ซึ่งปีนี้ ธปท.คาดสินเชื่อโต 5-6% จากปี 2560 อย่างไรก็ตาม เทรนด์ดอกเบี้ยก็ยังไม่ชัดเจน เราต้องรอดูต่อไป แต่ทิศทางหลักของดอกเบี้ยจะไปอย่างไร ก็ยังอยู่ที่ กนง.” นางสาวดารณีกล่าว

สำหรับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ทั้งระบบ ยังเติบโตต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจ หลังจากไตรมาส 1/2561 ที่ผ่านมา สินเชื่อเติบโต 4.7% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยเติบโตทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มากขึ้น และสินเชื่ออุปโภคบริโภค ได้รับแรงหนุนจากสินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัวส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมาส 2 ของแบงก์โดยรวม น่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.92% โดยเอ็นพีแอลของกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จึงยังต้องจับตาต่อไป แต่โดยภาพรวมของเอ็นพีแอล มีโอกาสดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่า ไตรมาส 1/2561 ของระบบธนาคารพาณิชย์ มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมาจากกำไรจากการขายเงินลงทุนและรายได้ค่านายหน้าจากการขายหลักทรัพย์เป็นสำคัญ ขณะที่มีค่าใช้จ่ายด้านไอทีและการตลาด รวมถึงการกันสำรองเพิ่มขึ้น ด้านอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) อยู่ที่ 2.66% ลดลงจากสิ้นปี 2560 ที่อยู่ระดับ 2.75% ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังมีแรงกดดันจากแนวโน้มต้นทุนดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น และค่าใช้จ่ายสาขาและพนักงานที่ยังเพิ่มขึ้น แม้ว่าจำนวนสาขาเริ่มลดลง

ด้านรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ของกลุ่มแบงก์ในช่วงไตรมาส 2 นี้ นางสาวดารณีกล่าวว่า ยังคงได้รับผลกระทบจากการปรับลดค่าฟีการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีนัย ซึ่งค่าฟีการโอนเงินมีสัดส่วนราว 12% ของรายได้ค่าฟีรวม ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าฟีของธนาคารทั้งระบบยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น จากการเป็นนายหน้าขายหลักทรัพย์

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า การใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ขอกู้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรายย่อย-เอสเอ็มอี-รายใหญ่

เพราะการใช้มาตรฐาน IFRS9 คาดว่าจะต้องตั้งสำรองโดยรวมเพิ่มขึ้น 4-5 หมื่นล้านบาท แต่ธนาคารทั้งระบบมีการตั้งสำรองครบแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินผลกระทบต่าง ๆ ซึ่งจะส่งกลับ ธปท.ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ก่อนจะนำมาสู่ผลสรุปว่าจะเลื่อนใช้มาตรฐาน IFRS9 หรือไม่