ยกเครื่องกม.ประกันทั้งกระบิ คปภ.เล็งรีวิวทุก 5 ปีสนองนโยบายปฏิรูป

คปภ.วางกรอบทบทวนกฎหมาย “ประกันชีวิต-วินาศภัย” รวม 44 ฉบับที่ครบกำหนด 5 ปี ขานรับนโยบายรัฐ พร้อมรับการประเมินภาคการเงิน (FSAP) ปลายปีนี้จัดตั้งคณะกรรมการกลาง ดึง “ตนุภัทร” รองเลขาฯด้านกฎหมายนั่งประธานการพิจารณา ชวนเอกชนที่เห็นด้วยเข้าร่วมส่งคอมเมนต์

นายสมประโชค ปิยะตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คปภ.มีแผนทบทวนกฎหมายทั้งหมดที่บังคับใช้ครบกำหนดทุก 5 ปี โดยนำมาพิจารณาว่ากฎหมายแต่ละฉบับยังมีความจำเป็นหรือต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่หรือไม่ ซึ่งขณะนี้คปภ.ได้มอบหมายให้แต่ละส่วนงานเป็นผู้รับผิดชอบเสนอกฎหมายเข้ามา พร้อมกันนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการกลาง โดยมีนายตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ นั่งเป็นประธานการพิจารณา

สมประโชค ปิยะตานนท์

ส่วนในปีนี้ กรอบการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิตมีทั้งสิ้น 16 ฉบับ ซึ่งแบ่งเป็นประกาศ คปภ. 4 ฉบับ ประกาศสำนักงาน คปภ. 4 ฉบับ ประกาศนายทะเบียน 4 ฉบับ และคำสั่งนายทะเบียน 4 ฉบับ ส่วน พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยมีทั้งสิ้น 28 ฉบับ แบ่งเป็นประกาศ คปภ. 4 ฉบับ ประกาศสำนักงาน คปภ. 3 ฉบับ ประกาศนายทะเบียน 4 ฉบับ และคำสั่งนายทะเบียน 17 ฉบับ ทั้งนี้กฎหมายแต่ละฉบับได้ถูกประกาศไว้บนเว็บไซต์ คปภ.แล้ว เพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่ามีกฎหมายกี่ฉบับที่จะหยิบขึ้นมาทบทวนใหม่

“ตอนนี้เราดูจากภายในก่อน แต่หากภาคเอกชนเห็นว่าควรยกเลิกกฎหมายบางฉบับก็สามารถส่งคอมเมนต์เข้ามายังสำนักงาน คปภ.ได้เช่นกัน” นายสมประโชคกล่าว

สำหรับหลักในการพิจารณา คือ 1.กฎหมายใดที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้แล้วจะยกเลิก 2.กฎหมายที่กาลเวลาผ่านไปไม่ทันสมัย จะต้องนำมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ อาทิ ประกาศเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย 3.กฎหมายที่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เช่น ยกร่างกฎหมายประกันภัยทางทะเลขึ้นมาพิจารณาข้อพิพาท โดยไม่ต้องไปเทียบเคียงกฎหมายประกันภัยทางทะเลของอังกฤษ

นายสมประโชคกล่าวว่า การพิจารณาทบทวนกฎหมายเหล่านี้จะต้องมีความระมัดระวัง เพราะกฎหมายบางฉบับเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน เพราะฉะนั้นก่อนยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขต้องรอบคอบที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้ คปภ.ได้ยกเลิกกฎหมายไปแล้วประมาณ 5-6 ฉบับ

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีนี้ คปภ.จะต้องเข้ารับการประเมินภาคการเงิน (FSAP) พร้อมกับหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับรองรับ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐเรื่อง “Regulatory Guillotine” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ระบุว่า รัฐพึงออกกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์นั้น เพราะกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นภาระกับผู้ประกอบการเกินความจำเป็น

“ขณะนี้กฎหมายที่ คปภ.เร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จ ก่อนการประเมินภาคการเงิน (FSAP) คือ ประกาศการเปิดเผยข้อมูลบริษัทประกันภัย ประกาศเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และประกาศว่าด้วยการประกันภัยต่อ เพื่อให้ระบบการประกันภัยของไทยเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล” นายสมประโชคกล่าว

โดยในเบื้องต้นจากการประมวลกฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวกับการรายงานทางการเงินในอดีต พบว่าจะให้รายงานเข้าระบบและรายงานเป็นเปเปอร์ ซึ่งการรายงานเข้าระบบในบางครั้งอาจจะยังเกิดข้อผิดพลาด (error) เนื่องจากระบบอาจจะยังไม่มีความเสถียรพอ คปภ.จึงให้รายงานควบคู่กันทั้งสองแบบ แต่เมื่อไรที่ระบบการรับรายงานมีความเสถียรมากพอ คปภ.จะยกเลิกส่วนการรายงานเปเปอร์ เพื่อช่วยลดภาระภาคเอกชนและดำเนินการสอดคล้องนโยบายภาครัฐต่อไป

“ที่ผ่านมารัฐไม่ได้มีนโยบายชัดเจนเรื่อง Regulatory Guillotine จึงเป็นปัญหาว่าหน่วยงานรัฐออกกฎกติกาค่อนข้างเยอะ และบางครั้งกฎหมายที่ออกไปไม่ได้ใช้หรือเป็นภาระต่อภาคเอกชน ทำให้ปัจจุบันรัฐจึงให้นโยบายว่า ก่อนจะออกกฎหมาย/ประกาศ/คำสั่งนายทะเบียน ต้องพิจารณาความจำเป็นจริง ๆ” นายสมประโชคกล่าว