สคร.ดันร่าง พ.ร.บ.พีพีพีเต็มสูบหวังคลอดทันก่อนเลือกตั้ง

แฟ้มภาพ

สคร.เร่งเครื่องดันร่าง พ.ร.บ.PPP ผ่าน สนช.ก่อนเลือกตั้ง “ประภาศ” แจงกฎหมายจำเป็นต้องเร่งผลักดัน เหตุต้องปรับปรุงกฎหมายเดิมที่ขอบเขตกว้าง-ไม่คล่องตัว แจงกฎหมายใหม่ตัดโครงการเช่าที่ดินออก พร้อมขยายขอบเขตกองทุน PPP ซัพพอร์ตการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคมมากขึ้น

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ สคร.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (กฎหมาย PPP) ให้เร่งพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้แล้วเสร็จได้ทันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2562 เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความจำเป็น เนื่องจากกฎหมายเดิมมีขอบเขตกว้าง และไม่มีความคล่องตัว

“ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.PPP อยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งก็มีการเร่งประชุมกัน โดยประชุมทุกวันอังคาร และวันพฤหัสฯของทุกสัปดาห์ เพื่อให้กฎหมายเสร็จก่อนเดือน ธ.ค. 2561 ที่ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะปิดรับกฎหมายใหม่แล้ว รวมถึงเพื่อให้กฎหมายผ่าน สนช.ทันก่อนมีการเลือกตั้งปีหน้า ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และเข้า สนช.ไม่เกินเดือน ต.ค.” นายประภาศกล่าว

สำหรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น เป็นการแก้ไขปรับปรุง โดยจะจำกัดกิจการที่รัฐจะส่งเสริมให้ลงทุนแบบ PPP เฉพาะโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะเท่านั้น แต่จะไม่รวมการให้เช่าทรัพย์สิน หรือที่ดินของรัฐ อย่างเช่น การเช่าที่ราชพัสดุ เป็นต้นนอกจากนี้ นายประภาศกล่าวด้วยว่า เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (กองทุน PPP) มีขอบเขตการใช้เงินกองทุนที่จำกัด ไม่ครอบคลุมถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม ดังนั้น เมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.PPP ใหม่ ทาง สคร.จึงได้เสนอปรับปรุงขยายขอบเขตของกองทุน PPP ด้วย ซึ่งนอกจากจะสามารถใช้เงินกองทุนในการว่าจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำโครงการ PPP แล้ว ยังสามารถใช้ในการให้มาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุนได้ เช่น การลงทุนโครงการด้านสังคม ที่อาจจะใช้เงินกองทุน PPP ในการลงทุนด้วย เพื่อช่วยจูงใจเอกชน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 กำหนดว่า การจะจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนขึ้นมา จะต้องมีการเสนอคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนที่มี รมว.คลังเป็นประธาน กลั่นกรอง และเสนอ ครม.เห็นชอบก่อนจึงจะจัดตั้งได้

นายประภาศกล่าวอีกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางกรมบัญชีกลางได้เสนอ ครม.เห็นชอบผลการพิจารณาการขอจัดตั้งกองทุน PPP ขึ้นใหม่ตามมติคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน โดยเมื่อกฎหมาย PPP ที่แก้ไขปรับปรุงใหม่มีผลบังคับใช้ก็สามารถจัดตั้งกองทุน PPP ใหม่ขึ้นได้ทันที ซึ่งจะมีผลยุบเลิกกองทุน PPP เดิมไปโดยปริยาย

“กองทุน PPP ตามกฎหมายปัจจุบัน มีขอบเขตการใช้เงินกองทุนที่จำกัด โดยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม ที่ไม่ค่อยมีผลตอบแทน หรือผลตอบแทนต่ำ ไม่จูงใจนักลงทุน จะไม่สามารถใช้เงินกองทุน PPP ไปสนับสนุนได้ ดังนั้น เมื่อเรามีการแก้ไข พ.ร.บ.PPP ใหม่ จึงมีการเสนอปรับปรุงขยายขอบเขตการใช้เงินกองทุนนี้ให้ครอบคลุมโครงการด้านสังคมด้วย” นายประภาศกล่าว