“กสิกร-ธพว.” อั้นดอกเบี้ยกู้สิ้นปี ประคองลูกค้าเอสเอ็มอีฟื้น

เคแบงก์อั้นการขึ้นดอกเบี้ยกู้เอสเอ็มอีถึงปีหน้า เผยรอ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก่อนค่อย “ขยับ” ตาม ระบุเน้นสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ชี้ชีพจรเอสเอ็มอีค่อย ๆ ฟื้น ฝั่ง ธพว.ประกาศตรึงดอกเบี้ยถึงสิ้นปีนี้ กนง.คง ดบ. 1.5% พร้อมรอจังหวะขยับขึ้น

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือเคแบงก์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอี ยังอยู่ในภาวะค่อย ๆ ฟื้นตัว จึงทำให้ดอกเบี้ยกู้กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ของธนาคาร จะยังคงไม่ปรับขึ้นไปจนถึงปีหน้า โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยกู้ของธนาคาร จะขึ้นอยู่กับสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และต้นทุนทางการเงินที่แท้จริงในเวลานั้น ๆ แต่หากธนาคารจะปรับขึ้นดอกเบี้ยกู้ ก็น่าอยู่ในระดับที่น้อยกว่าการขึ้นของ กนง.

“เราคาดว่าจะเห็น กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยในต้นปีหน้า แต่หากมีการปรับเร็วกว่าคาด ก็คงเห็นปลายปีนี้ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับดอกเบี้ยของเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วย เพราะหากมีส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยกว้างเกินไป กนง.ก็อาจต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ด้วย เราคิดว่าก็ต้องประคองให้ส่วนต่างดอกเบี้ยนี้ไม่ควรเกินไปถึง 50-75 สตางค์ แต่อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยในไทยคงจะค่อย ๆ ปรับขึ้นไปมากกว่า” นายสุรัตน์กล่าว

สำหรับความต้องการขอสินเชื่อของเอสเอ็มอีในช่วง 7 เดือนแรกที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีขนาดกลาง (ยอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาท) จะขอสินเชื่อไม่เกิน 30 ล้านบาท และกลุ่มเล็ก ซึ่งสินเชื่อที่ขอจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสต๊อกสินค้าเป็นส่วนใหญ่ และจะมีบางที่ขยายกำลังการผลิต เช่น กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยยอดสินเชื่อคงค้างล่าสุด (สิ้น ก.ค.) อยู่ที่ 7 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดปล่อยกู้ใหม่ 7 เดือนแรกอยู่ที่ราว 1.38 แสนล้านบาท โดยยังคงมั่นใจว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมายเติบโตที่ 4-6% ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 5%

ทั้งนี้ ล่าสุดธนาคารกสิกรไทย และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกันในการสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนสู่ยุค 4.0 โดยธนาคารจะสนับสนุนให้ขายสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่น K PLUS ที่จะเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขายบนตลาดออนไลน์ ที่มีลูกค้ารองรับ 8.4 ล้านราย ให้สามารถซื้อง่าย ขายคล่อง สะดวกและปลอดภัย จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการกว่า 1,200 ราย

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่เอสเอ็มอีค่อย ๆ ฟื้นตัว ธพว.ยังไม่มีนโยบายที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2561 แต่หากว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนในปลายปีนี้ธพว.จะมีการทบทวนดอกเบี้ยอีกครั้ง

“แนวโน้มผู้ประกอบเอสเอ็มอีในครึ่งปีหลังนี้ น่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นเทรนด์ดอกเบี้ยที่ขาขึ้น ทางแบงก์ตั้งใจที่จะเอาดอกเบี้ยถูกเป็นแรงจูงใจ โดยปีนี้มี 2 โปรดักต์ (สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาวและสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0) นอกจากนี้แบงก์เตรียมมาตรการเพื่อยกระดบั ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี” นายมงคลกล่าว

สำหรับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อครึ่งปีหลังของ ธพว. คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่ม ได้อีก 30,000 ล้านบาทโดยมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อ 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหาร เกษตรแปรรูป กลุ่มเอสเอ็มอีและกลุ่มสตาร์ตอัพ

ทั้งนี้ สินเชื่อ “เศรษฐกิจติดดาว” จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชน อัตราดอกเบี้ยกู้ 3% ต่อปี ใน 3 ปีแรก ส่วนปีที่ 4-7คิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี(MLR) 6.875% ต่อปี (ปัจจุบัน) วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย และ”สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0″ ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดย่อม อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านต่อราย

ทั้งนี้ ผลประชุม กนง.เมื่อวันที่ 8ส.ค. 2561 มีมติ 6 เสียงต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%ซึ่งยังเป็นนโยบายที่ผ่อนคลายเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ด้านอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้โดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในกรอบเป้าหมาย พร้อมกันนี้ ในที่ประชุม กนง.มีความเห็นร่วมกันว่าการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเริ่มมีความจำเป็นน้อยลงเรื่อย ๆส่วนความเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยและอาคารชุด (คอนโดมิเนียม) ที่มีจำนวนค้างอยู่ในบางพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน ซึ่งยังมียอดหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่มาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ซึ่งหากในอนาคต ทิศทางดอกเบี้ยปรับขึ้น อาจจะกระทบต่อการชำระหนี้ของผ้กู้ในบางระดับได้ และยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจส่วนผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศและแนวโน้มการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวที่อาจต่ำกว่าคาด