‘ตุรกีเอฟเฟ็กต์’เขย่าค่าเงินโลก ทุบราคาทองคำดิ่งหลุด1,200เหรียญต่อออนซ์

แฟ้มภาพ

ค่าเงินโลกผันผวนหนัก หลังสหรัฐขึ้นภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมตุรกีเท่าตัว แบงก์ชาติจับตาตลาดเงินใกล้ชิด “เอ็มทีเอส” ชี้วิกฤตตุรกีทุบราคาทองคำโลกดิ่งหลุด 1,200 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ต่ำสุดรอบ 18 เดือน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่า ค่าเงินทั่วโลกผันผวนรุนแรงอีกครั้ง หลังสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมตุรกีอีกเท่าตัว คือ เหล็กอัตรา 50% และอลูมิเนียม 20% ซึ่งกดดันเงินตุรกีตกต่ำรุนแรงเป็นประวัติศาสตร์ ค่าเงินลีราของตุรกี อ่อนค่าลง 38% ใน 1 สัปดาห์ กดดันต่อค่าเงินที่มีความสัมพันธ์การค้ากับตุรกี คือ ยุโรป ตะวันออกกลาง และจีน กระทบการค้าและการลงทุน รวมทั้งตลาดหุ้นทั่วโลก โดยดัชนีตลาดหุ้นไทย (14 ส.ค.) ปิดที่ 1,695.35 จุด ลดลง-10.61จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 54,248 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ 2,146.94 ล้านบาท

จันทวรรณ สุจริตกุล

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด ความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการเงินของไทยกับประเทศตุรกียังไม่สูงมาก ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจึงอยู่ในวงจำกัด วันที่ 14 ส.ค. 2561 ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 33.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าต่อเนื่องจากปิดเมื่อวันศุกร์ (10 ส.ค.) ที่ 33.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายกฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกปรับลดลงต่ำกว่า 1,200 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ เป็นระดับราคาที่ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน ส่วนราคาทองคำในประเทศลดลงบาทละ 150 บาท เป็น 19,850 บาท ผลจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ลุกลามขยายวงกว้างไปสู่ประเทศตุรกี

“จริงอยู่ตุรกีเอฟเฟ็กต์ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องที่ตลาดทั่วโลกกังวล คือ เอฟเฟ็กต์จากสงครามการค้าที่ลุกลามโดยระดับราคาทองคำได้เริ่มทยอยปรับลดลงต่อเนื่องมา 3 สัปดาห์ จนหลุด 1,200 เหรียญสหรัฐ”

ทิศทางราคาทองคำหลังจากนี้ยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยแนวรับถัดไปอยู่ที่ 1,175 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ระดับราคานี้จะทอนเป็นราคาในประเทศเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน เบื้องต้นประเมินว่าอยู่ที่บาทละ 18,600-18,700 บาท

บทวิเคราะห์ของวายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ระบุว่า ทองคำสูญเสียสถานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับค่าเงินตุรกี ที่อาจลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในยูโรโซนที่มีการเกินดุลการค้ากับตุรกี และอาจทำให้ภาคธุรกิจตุรกีผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ สถานการณ์ดังกล่าวได้กระตุ้นเม็ดเงินลงทุนให้ไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง สะท้อนจากการปรับตัวของตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่กระแสเงินทุนไหลเข้าสกุลเงินดอลลาร์ส่งผลต่อดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำประกอบกับประธานาธิบดีตุรกีออกมาเรียกร้องให้ชาวตุรกี ซึ่งถือเป็นผู้บริโภคทองคำมากเป็นอันดับ 5 ของโลกในปีที่แล้ว แปลงทองคำและสกุลเงินดอลลาร์ให้อยู่ในรูปสกุลเงินลีราอีกด้วย