บาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ จับตารอตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/9) ที่ระดับ 32.76/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (5/9) ที่ระดับ 32.83/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐ ว่ามีระดับสูงขึ้น 9.5% มาอยู่ที่ระดับ 5.01 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม และเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 หลังจากอยู่ที่ระดับ 4.57 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน โดยมีสาเหตุจากการลดลงของการส่งออกถั่วเหลืองและเครื่องบิน โดยสหรัฐ ขาดดุลการค้าต่อจีนเพิ่มขึ้น 10% มาอยู่ที่ระดับ 3.68 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้แล้วสหรัฐยังขาดดุลต่อสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 50% มาอยู่ที่ระดับ 1.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลต่อแคนาดาเพิ่มขึ้น 57.6% สู่ระดับ 3.1 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่สหรัฐ ขาดดุลการค้าต่อเม็กซิโกลดลง 25.3% มาอยู่ระดับ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเด็นด้านการค้าระหว่างสหรัฐ และแคนาดานั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อวานนี้ว่า (5/9) จะทราบผลเจรจาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยตัวแทนเจรจาการค้าของสหรัฐ และแคนาดาได้เริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่อีกครั้งเมื่อวานนี้ (5/6) ที่กรุงวอชิงตัน หลังจากที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (31/8) นอกจากนี้แล้วนักลงทุนยังคงรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในคืนวันศุกร์นี้ (7/9) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.75-32.84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.81/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (6/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1645/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/9) ที่ระดับ 1.1575/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าสหราชอาณาจักร และเยอรมนีเตรียมที่จะยกเลิกเงื่อนไขที่เคยเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาเกี่ยวกับการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลง โดยเยอรมนีพร้อมที่จะยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในอนาคตของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป เพื่อให้ทั้งสองฝ่่ายสามารถทำข้อตกลงเบร็กซิตได้ นอกจากนี้แล้วสหราชอาณาจักรยังพร้อมที่จะยอมรับแถลงการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคต โดยยอมเลื่อนการตัดสินใจในบางประเด็นออกไปจนกว่าจะผ่านพ้นวันที่มีการแยกตัวอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1612-1.1651 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1621/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (6/9) เปิดตลาดที่ระดับ 111.22/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/9) ที่ระดับ 111.62/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังได้รับผลกระทบจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.22-111.43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.31/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ปริมาณการสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐ (6/9) ดุลการค้าเดือนกรฎาคมของเยอรมนี (7/9), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ของยูโรโซน (7/9) อัตราค่าจ้างแรงงานของสหรัฐ (7/9) อัตราการว่างงานของสหรัฐ (7/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.1/-2.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.0/-2.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ