โอกาสธุรกิจกับบริการ “รับจ้างผลิต” สู่ตลาดโลก

ภาพประกอบ Pixabay

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน บทความฉบับนี้ผมขอเสนอเรื่องราวความเคลื่อนไหวของตลาดรับจ้างผลิตในรูปแบบ OEM (original equipment manufacturer) ของประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มผู้รับจ้างผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพและมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการมายาวนาน ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ทำให้วันนี้ไทยกลายเป็นฐานรับจ้างผลิตระดับโลก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอากาศยาน กลุ่มเครื่องสำอาง กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กลุ่มแฟชั่น ซึ่งประกอบด้วย เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องหนัง และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น การเติบโตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลไทยต้องการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) และการซ่อมบำรุง (MRO : maintenance, repair & overhaul) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 บนพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งหมายความว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น มีการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย ให้สามารถก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรมในอนาคต

ไม่เพียงเท่านั้นครับ ผู้ประกอบการเหล่านี้ยังยกระดับการให้บริการสู่การผลิตแบบครบวงจร (one stop service) ในรูปแบบ ODM (original design manufacturer) ด้วยการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าโดยเฉพาะ รวมถึงบริการออกแบบบรรจุภัณฑ์มีบริการจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้า พร้อมช่วยวางแนวทางการทำตลาด สร้างแบรนด์สินค้าแบบเบ็ดเสร็จ โดยกลุ่มนี้จะมีจุดเด่นตรงที่การมีองค์ความรู้และความชำนาญในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงตามความต้องการ ด้วยการพัฒนาทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือมีห้องแล็บของตนเอง มีทีมการตลาดสามารถให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งและจุดขายสำคัญของผู้รับจ้างผลิตของไทย

ผมอยากแนะนำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสานฝัน อยากเป็นเจ้าของธุรกิจและมีแบรนด์สินค้าเป็นของตนเอง สามารถค้นหาและใช้บริการจากบริษัทผู้รับจ้างผลิตเหล่านี้ได้ เพื่อลดระยะเวลาการพัฒนาสินค้า และลดต้นทุนด้านการผลิต โดยมีเพียงไอเดียและเงินทุนก็สามารถเนรมิตธุรกิจภายใต้แบรนด์ของตนเองได้โดยไม่ต้องตั้งโรงงานเพื่อผลิตเองซึ่งเป็นการลงทุนที่สูง ดังนั้น การมองผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับจ้างผลิต จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการตั้งต้นธุรกิจได้รวดเร็ว โดยผู้ลงทุนสามารถมุ่งไปที่การพัฒนาธุรกิจหลักและให้ความสำคัญกับการวางแผนการทำตลาดอย่างเดียว ไม่ต้องมากังวลเรื่องการจัดตั้งโรงงานผลิตหรือหาซัพพลายเออร์ และทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ

ในขณะเดียวกัน การจะค้นหาผู้รับจ้างผลิตที่ดีมีคุณภาพก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ว่าจ้างก็ต้องมีการศึกษาหาความรู้ การเลือกใช้บริการผู้รับจ้างที่มีความเชี่ยวชาญ โดยกลุ่มผู้รับจ้างผลิตเองก็ต้องมีความโปร่งใสด้านการบริหารงาน สามารถนำเสนอรายละเอียดของบริษัทมาแสดง ทั้งในด้านกลุ่มสินค้าที่รับผลิต รายได้ต่อปี และสัดส่วนตลาดส่งออกไปที่ไหนบ้าง เพื่อสร้างความมั่นใจและน่าเชื่อถือมากขึ้น ด้านโรงงานผลิตเองได้รับมาตรฐานการผลิตระดับสากลรองรับ เช่น GMP, ISO, HACCP, HALAL หรือไม่ ที่สำคัญต้องมีการทำสัญญาระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างผลิตในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ตราสินค้าเพื่อไม่ให้มีการละเมิดด้วยนะครับ

สำหรับบริการรับจ้างผลิตทั้งแบบ OEM และ ODM ผมมองว่าเป็นอีกหนทางหนึ่งสำหรับใครที่มองหาโอกาสการเริ่มต้นธุรกิจ หรือเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กได้โดยไม่จำเป็นต้องมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นจำนวนมากนัก ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มาก แต่มีใจที่จะอุทิศตน ทำงานหนัก มีความเพียร มีการวางแผนการตลาดดี ๆ ก็มีศักยภาพในการทำกำไรและประสบความสำเร็จได้ครับ