SCBAM ชูธงรบ “โตไร้ขีดจำกัด” เปิดแนวรุก “ช่องทางออนไลน์” ต้อนลูกค้า

การยืนอันดับหนึ่งหรือเป็นแชมป์ของธุรกิจ จะยิ่งมีแรงกดดันรอบด้าน ไม่ว่าจะต้องพยายามรักษาความเป็นแชมป์ไว้ให้ได้และต้องไม่ให้คู่แข่งตีตื้นมาหายใจรดต้นคอด้วย สำหรับธุรกิจจัดการกองทุนรวม แชมป์ในวงการกองทุนรวมวันนี้ คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ไทยพาณิชย์ (SCBAM) แต่โจทย์ปี 2562 นี้ก็ยังต้องไปต่อในการวางยุทธศาสตร์ ให้สอดรับกับโลกดิจิทัลแบงกิ้งของแบงก์แม่ “ธนาคารไทยพาณิชย์” พร้อม ๆ ไปกับต้อง “รักษาแชมป์” ไม่ให้สั่นคลอนด้วย

“ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวถึงทิศทางในปีนี้ว่า บริษัทไม่ได้กำหนดเป้าหมายมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) เพราะอยากเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีขีดจำกัด ซึ่งผ่านมาเดือนแรก (สิ้น ม.ค. 62) บริษัทมี AUM อยู่ที่ราว 1.5 ล้านล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ที่ 20.63%

“แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเติบโตแบบไม่มีคุณภาพ เพียงแต่เราอยู่ในระดับที่มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 จึงคิดว่าหากเราหันมาใส่ใจลูกค้ามากขึ้น หันมาเข้าใจลูกค้ามากขึ้น และศึกษาว่าลูกค้ามีความต้องการอะไร เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าต่างหากที่จะเป็นเป้าหมายหลักในปีนี้”

พร้อมปักธงปีนี้แผนเข้าสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัล คือ การต่อยอด “เทคโนโลยี” ทั้งเอไอ (AI) และ machine learning สำหรับใช้ขยายการลงทุน ซึ่งบริษัทก็ได้เริ่มนำระบบการประมวลภาษาธรรมชาติ (NLP) เข้ามาใช้ประมวลผลข้อมูลที่เป็นข้อความ (text data) จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาพิจารณาเลือกหุ้นที่จะลงทุน ซึ่งมีความแม่นยำค่อนข้างสูง

“ปีที่ผ่านมา เราทดลองนำข้อมูลข่าวสารและบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ ที่มีเข้ามาจำนวนมากในแต่ละวัน แปลงให้เป็น sentiment score เพื่อใช้สำหรับเลือกหุ้นที่จะลงทุน ซึ่งผลที่ได้ค่อนข้างแม่นยำ และยังมีแผนจะขยายการนำข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ มาใช้เพิ่มขึ้น เช่น ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือการค้นหาคำในกูเกิล เป็นต้น เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ปัจจัย (factor) ของกองทุนให้มากขึ้น”

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเร่งพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม สำหรับให้บริการและข้อมูลข่าวสารความรู้แก่ลูกค้าอย่างครบวงจร เช่น เสนอขายกองทุน SCBSETE ซึ่งจะ “ฟรี” ค่าธรรมเนียมเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น โดยมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านทางดิจิทัล และการเปิดให้บริการ chatbot ผ่านทางไลน์ออฟฟิเชียลเพื่อให้ลูกค้าสอบถามข้อมูลกองทุนได้สะดวกรวดเร็ว การให้บริการวางแผนการลงทุนเฉพาะบุคคลสำหรับนักลงทุนมือใหม่ผ่านทางเว็บไซต์ และการให้ข้อมูลข่าวสารความรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก และยูทูบ เป็นต้น

“การขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล ไม่ได้ทำเพียงเฉพาะช่องทาง SCB และ SCBAM เท่านั้น แต่จะทำผ่านตัวแทนขายใหม่ ๆ ที่เป็นออนไลน์ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ตั้งแต่นักศึกษาที่อาจเพิ่งเริ่มลงทุนหรือเก็บเงิน จนถึงคนวัยเกษียณที่เข้ามาใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยเราตั้งเป้าหมายผู้ใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลให้แตะ 4 แสนรายในปีนี้ จากปัจจุบันที่มี 1 แสนราย”

สำหรับภาพรวมธุรกิจกองทุนของบริษัท ณ สิ้น ม.ค. 62 บริษัทมีลูกค้าทั้งหมด 4 แสนราย โดยแบ่งเป็นธุรกิจกองทุนรวม มี AUM อยู่ที่ 9.6 แสนล้านบาท โต 1.07% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (นับรวมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท) ตามด้วยธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (private fund) มี AUM อยู่ที่ 4.2 แสนล้านบาท โตราว 1.36%

โดยมีมาร์เก็ตแชร์ราว 42.7% ติดอันดับ 1 ต่อเนื่อง และธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund) มี AUM อยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.28%ปีนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ที่จะเดินไปสู่เป้า “โตไร้ขีดจำกัด”