ราคาทองปรับลง พ.ค. สหรัฐ-จีนหวังบรรลุเจรจาการค้า

คอลัมน์ สถานีลงทุน

โดย ธนรัชต์ พสวงศ์ ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเริ่มปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในบางช่วงราคาทองคำจะได้รับแรงหนุนจากความวิตกกังวลจากการที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง (no deal) นั้น แต่ความวิตกกังวลดังกล่าวก็ผ่อนคลายลงหลังจากสหภาพยุโรป (EU) ได้เห็นชอบขยายเวลา Brexit ไปเป็นวันที่ 31 ต.ค. 2562

นอกจากนี้การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่คืบหน้า เนื่องจากคาดว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนใกล้บรรลุข้อตกลงแล้ว ก็ได้ส่งผลให้เกิดแรงเทขายทองคำออกมา ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงในระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน หรือเป็นระดับต่ำสุดในปีนี้ที่ระดับ 1,266 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งในปีนี้ราคาทองคำปรับตัวลงราว 1.25%

หลังจากที่ผู้นำระดับสูงของสหรัฐและจีนได้มีการร่วมประชุมกันหลายต่อหลายครั้ง โดยสหรัฐได้มีการเลื่อนขยายเวลาการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จากเดิมที่มีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 1 มี.ค.เพื่อชะลอการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 25% จากระดับ 10% ทั้งนี้การเลื่อนระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวนั้นมาจากการเจรจาทางด้านการค้าที่ส่งสัญญาณไปในทิศทางที่ดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามองการเจรจาทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีนต่อไป หากว่าข้อตกลงทางด้านการค้าส่งสัญญาณที่ดีขึ้นจนสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ก็อาจจะมีพิธีลงนามในช่วงปลายเดือน พ.ค.หรือต้นเดือน มิ.ย. แต่การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ทั้ง 2 ประเทศจะสามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ และยกเลิกข้อกำหนดที่ให้บริษัทสหรัฐถ่ายโอนเทคโนโลยีกับบริษัทจีน หากต้องการเข้าไปลงทุนในประเทศ ถึงแม้ว่าทางจีนจะยินยอมประนีประนอมในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม การประนีประนอมของจีนนั้นอาจจะไม่ทั้งหมด

เนื่องจากว่าสหรัฐต้องการผลักดันให้เกิดแผนการจัดลำดับความสำคัญในการวิจัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่จะโน้มน้าวจีนเกี่ยวกับนโยบายการครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ ซึ่งยังคงจับตามองต่อไปว่าสหรัฐและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในเดือน พ.ค.หรือไม่ ในขณะที่ความสัมพันธ์ทั้ง 2 ประเทศมีความเปราะบาง อาจมีปัจจัยภายนอกที่มากระทบ เช่น ประเด็น Huawei เกาหลีเหนือ หรือประเด็นอื่น ๆ ซึ่งช่วยตอกย้ำสร้างความขัดแย้งที่มากขึ้นในความสัมพันธ์ที่เปราะบาง ก็อาจส่งผลต่อการเจรจาทางด้านการค้าที่อาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้จนต้องยืดเยื้อต่อไป หรือท้ายที่สุดแล้วสหรัฐต้องเดินหน้าปรับขึ้นการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม ก็จะส่งผลให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนบานปลายขึ้น จนกระทบต่อเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศ และอาจลุกลามไปทั่วโลก

ประเด็นดังกล่าวนี้อาจทำให้เกิด “แรงซื้อ” ทองคำเข้ามาเพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐพุ่งเป้ากดดันด้านการค้าจีนอย่างจริงจังในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลทำให้สหรัฐขาดดุลการค้า ตลอดจนสูญเสียโอกาสในการทำข้อตกลงกับยุโรป เม็กซิโก แคนาดา และญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญของสหรัฐ และมีมูลค่าเป็น 2 ใน 3 ของการส่งออกของสหรัฐ ในขณะที่ยอดการส่งออกสินค้าของสหรัฐไปยังจีนคิดเป็นเพียง 7.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดเท่านั้น

แนวโน้มราคาทองคำในเดือน พ.ค.คาดมีทิศทาง sideways down หลังจากที่หลุดแนวรับ 1,280 ดอลลาร์/ออนซ์ที่เป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ และที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมีแรงซื้อกลับเข้ามาเมื่อราคาทองปรับลงเข้าใกล้ที่ระดับดังกล่าว ในตอนนี้ราคาทองคำมีแนวรับสำคัญอยู่ที่ 1,250 ดอลลาร์/ออนซ์ซึ่งเป็นแนวรับของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วัน เป็นจุดที่แนะนำเข้า “ซื้อ” ขณะที่มีแนวต้าน 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ ทั้งนี้จะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือน พ.ค. แต่ก็คาดว่าเฟดยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ระดับ 2.25-2.50% ซึ่งอาจจะไม่กระทบต่อราคาทองคำมากนัก