พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีต่อธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) ได้ออกวารสาร “พระสยาม” ฉบับที่ 2 เดือนมีนาคม-เมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยภายในวารสารดังกล่าว ได้นำเสนอเนื้อหาและภาพประกอบสำคัญๆ เชิงประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี อาทิ พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีต่อธนาคารแห่งประเทศไทย, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มรดกทางวัฒนธรรมของแผ่นดิน, ทุนพระราชทานรัชการที่ 10 แสงทองจากฟ้า ส่องสว่างทั่วแดนดิน เป็นต้น

ทั้งนี้ ธปท.ได้จัดทำเป็น version เป็น e-book https://www.bot.or.th/Thai/phrasiam/Documents/Phrasiam_2_2562/Phrasiam2_62.p สำหรับติดตามด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” ขอนำเสนอหนึ่งในบทความในวารสารพระสยามฉบับดังกล่าว

พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีต่อธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับพสกนิกรชาวไทยทุกคน การที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี นับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่พสกนิกรชาวไทยทั้งปวงปลื้มปิติยินดียิ่ง

ในวาระมหามงคลที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ วารสาร BOT พระสยาม MAGAZINE ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา

ก้าวแรกกับความมั่นคงขององค์กร

ในปี 2488 ธปท. ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ ณ วังบางขุนพรหม ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจเติบโตและขอบเขตงานกว้างขวางขึ้น พนักงานมีจำนวนมากขึ้นจนอาคารเรือนไม้ชั่วคราวที่ใช้เป็นที่ทำงานมีสภาพทรุดโทรมและคับแคบ จึงมีแนวคิดก่อสร้างอาคารที่ทำการใหม่เพื่อให้เหมาะสมสำหรับประกอบกิจการธนาคารกลางและ รองรับจำนวนพนักงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก

วันที่ 3 มิถุนายน 2520 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็น ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสำนักงานใหญ่ (อาคาร 2 ในปัจจุบัน) เพื่อให้อาคารแห่งนี้มีความมั่นคง ถาวร ให้พนักงานที่ทำงานในอาคารแห่งนี้ ทำงานได้อย่างเป็นสุขและร่มเย็น ภายหลังเสร็จพิธีวางศิลาฤกษ์แล้ว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมโรงพิมพ์ธนบัตรยังความปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่งแก่พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2555 และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนขึ้นทรงราชย์ ธปท. ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดทำธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ชนิดราคา 100 บาท ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นจำนวน 10,000,000 ฉบับ ธนบัตรด้านหน้ามีลักษณะทั่วไป สี และขนาด เช่นเดียวกับธนบัตร ชนิดราคา 100 บาท แบบ 15 (ปรับปรุง) ส่วนภาพธนบัตรด้านหลัง เชิญพระสาทิสลักษณ์ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงสายสร้อยและสายสะพายแห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และพระสังวาลปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ เป็นภาพประธาน โดยมีภาพพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นภาพประกอบโดยพระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกที่มีพระสาทิสลักษณ์ปรากฏอยู่ใน ธนบัตรของไทย

ธนบัตรชุดแรกแห่งรัชสมัย เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี

ธนาคารแห่งประเทศไทย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้จัด พิมพ์ธนบัตรชุดแรกในรัชสมัยที่ 10 หรือ ธนบัตรแบบ 17 เพื่อใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป ภายใต้แนวคิดเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข นำความร่มเย็นมาสู่อาณาประชาราษฎร์ และสร้างความเป็นปึกแผ่นและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ชาติ บ้านเมือง

โดยทรงมีพระราชวินิจฉัยกำหนดวันอันเป็นมงคลยิ่ง สำหรับนำธนบัตร 3 ชนิดราคาแรก คือ 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท ออกใช้ในวันจักรี วันที่ 6 เมษายน 2561 และอีก 2 ชนิดราคา คือ 500 บาท และ 1000 บาท ออกใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์การพิมพ์ธนบัตรของไทยที่สามารถพิมพ์และ นำธนบัตรใหม่ออกใช้ได้ครบทั้ง 5 ชนิดราคาภายในปีเดียว

ภาพด้านหน้าของธนบัตรทุกชนิดราคา ได้เชิญพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกองทัพอากาศ เป็นภาพประธาน และภาพด้านหลังธนบัตรแต่ละชนิดราคา เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ เรียงตามลำดับรัชกาล มาเป็นภาพประธาน พร้อมภาพหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของ แต่ละพระองค์ที่มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ และจารึกอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทย มาเป็นภาพประกอบ

สำหรับภาพประธานด้านหลังของธนบัตรชนิดราคา 1000 บาท เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คู่กับพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยมีภาพประกอบคือ พระสาทิสลักษณ์ขณะทอดพระเนตรแผนที่ บริเวณโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนรา อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ณ วัดพระพุทธ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2544 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและบรรเทาภาวะน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งสะท้อนถึงการประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์ สุขของปวงพสกนิกรอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาค นอกจากนี้ ธนบัตรชุดแรกในรัชกาลที่ 10 ชนิดราคา 1000 บาท ยังได้รับรางวัล The Best Banknotes Award ระดับนานาชาติจากการออกแบบที่ โดดเด่น และมีนวัตกรรมต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัยอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือ พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่พระราชทานให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยตลอดเวลามากว่า 4 ทศวรรษ