ชี้ราคาทองโลกขาขึ้นแนะทำกำไรระยะสั้น

ชี้สัญญาณทองโลกปรับขึ้นครึ่งปีหลัง อานิสงส์สงครามการค้า-ศก.โลกชะลอ-เฟดอาจลดดอกเบี้ย แนวโน้มราคาระยะสั้น 1,250 ดอลลาร์/ออนซ์ ทองไทยลุ้นบาทอ่อนค่าแตะ 32 บาท ดันราคาวิ่ง 20,000 บาท แนะจังหวะทำกำไร

นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) กล่าวว่า สถานการณ์ราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวขึ้น แต่ราคาทองในไทยกลับเคลื่อนไหวทิศทางลดลง ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยข้อมูลราคาทองตั้งแต่ต้นปีนี้-27 พ.ค. 62 พบว่า ราคาทองโลก (gold spot) เมื่อต้นปีเปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 1,282.4 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากนั้นปรับขึ้นสลับลง และล่าสุด (27 พ.ค.) ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,286 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 3.59 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 0.3% ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์หลักที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการตอบโต้สงครามการค้าของสหรัฐ-จีน ความขัดแย้งสหรัฐกับคู่กรณีฝั่งตะวันออกกลาง ฯลฯ ล้วนทำให้มีจังหวะหนุนราคาทองคำขยับขึ้น

อย่างไรก็ตาม ฝั่งราคาทองในไทยกลับปรับตัวลดลง สวนทางกับราคาทองโลก เพราะมีปัจจัยกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมาราว 1.3% จากต้นปี ที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.24 บาทต่อดอลลาร์ ปรับแข็งค่ามาอยู่ที่ 31.82 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ราคาทองในไทยช่วงปีนี้ (ต้นปี-27 พ.ค.) ร่วงลงมาราว 250 บาท หรือติดลบ 1.3% จากต้นปีนี้ที่อยู่บาทละ 19,800 บาท และล่าสุด (27 พ.ค.) อยู่ที่ 19,650 บาท

อย่างไรก็ตาม ด้านความต้องการ (demand) ทองในตลาดโลกของช่วงไตรมาสแรก ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 1,053.3 ตัน เพิ่มขึ้น 7% ซึ่งมีทั้งนำไปเพื่อทำเครื่องประดับ และต้องการลงทุนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับตลาดทองในไทยที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งด้านลงทุนในทองแท่งและใช้เพื่อทำเครื่องประดับ โดยไตรมาสแรกมีความต้องการลงทุนทองแท่ง 21.3 ตัน เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยยังมียอดการบริโภคทองคำโดยรวม ติดอันดับ 4 ของโลก และติด1 ใน 3 อันดับแรกของอาเซียน

“ในระยะสั้นเรามองราคาทองโลกยังจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็น sideway up ไปอยู่ที่ 1,291-1,288 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีปัจจัยหนุนจากการตอบโต้สงครามการค้าที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ปิดความเสี่ยงจากการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง และโยกมาลงทุนในทองคำ หากสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็อาจจะส่งผลให้มีแรงเทขายทองออก ซึ่งจะทำให้ราคาทองปรับตัวลดลงได้ นักลงทุนจึงต้องติดตามข่าวสารใกล้ชิด ปีนี้ทั้งปีเราคาดราคาทองโลกจะอยู่ที่ 1,366-1,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์” นางสาวฐิภากล่าว

สำหรับทิศทางการลงทุนทองในปีนี้ นางสาวฐิภากล่าวว่า แม้ว่าจะมีความผันผวนจากปัจจัยต่าง ๆ ก็ยังแนะนำให้นักลงทุน “ทยอยเข้าซื้อ” ทอง เมื่อราคาทองคำปรับตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,145-1,180 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาทองในไทยปรับตัวลงมาอยู่ที่บาทละ 17,200-17,750 บาท และหากราคาทองปรับขึ้น แนะนำ “ขายทำกำไร” ในบางส่วน โดยหากปรับขึ้นมาอยู่ที่ราว 1,366-1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือทองไทยอยู่ที่บาทละ 20,550-21,050 บาทต่อดอลลาร์ (ณ 27 พ.ค. 62 ค่าเงินบาท 31.82 บาทต่อดอลลาร์)

นายพิชญา พิสุทธิกุล จากห้างขายทองเลี่ยงเซ่งเฮง และในฐานะอุปนายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มราคาทองคำในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงไม่สามารถคาดการณ์ได้ชัดเจน เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่บานปลาย ปัญหาน้ำมันในอิหร่าน จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และถึงแม้ว่าราคาทองโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ราคาทองไทยจะยังไม่ถึง 20,000 บาทต่อบาททองคำ เนื่องจากราคาทองในประเทศได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ที่ประมาณ 31.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากต้องการเห็นราคาทองในไทยขึ้นไปอยู่ที่ 20,000 บาทได้ ค่าเงินบาทจะต้องอ่อนค่ามากกว่า 32.00 บาทต่อดอลลาร์

“ขณะที่ความต้องการซื้อทองในช่วงนี้ก็ไม่ดีมากนัก ตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์มา เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่ดีมากนัก หลาย ๆ ครอบครัวต้องใช้เงินในช่วงของการเปิดภาคเรียน คนส่วนใหญ่จะนำเงินไปใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นมากกว่า แต่เชื่อว่าหากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น คนมีเงินเหลือก็จะกลับมาซื้อทองคำเก็บไว้อย่างแน่นอน ซึ่งทิศทางราคาทองของไตรมาส 3 นี้ เราคาดว่าราคาทองโลกอยู่ที่ 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาทองในไทยอยู่ที่บาทละ 19,800-20,000 บาท” นายพิชญากล่าว

นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทในเครือ MTS GOLD แม่ทองสุก กล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำในช่วงที่เหลือปีนี้ คาดว่ามีทิศทางปรับขึ้นมากกว่าปรับลดลง เนื่องจากแนวโน้มสงครามการค้าทั้งสหรัฐ-จีน จะตกลงกันไม่ได้ด้วยดี ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง จึงเป็นปัจจัยหนุนราคาทองปรับขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น การประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ให้น้ำหนักรองลงมา จากสถานการณ์ปัจจุบัน

จึงประเมินกรอบการเคลื่อนไหวราคาทองโลก มีแนวรับ 1,280-1,285 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และหากราคาทองสามารถเคลื่อนไหวผ่านระดับ 1,290 ดอลลาร์/ออนซ์ไปได้ มีแนวโน้มว่าราคาทองคำในปี 2562 จะสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง

“ในกรณี worst case เรามองว่าราคาทองจะปรับลดลงไปไม่ลึกมาก จะยังสามารถเคลื่อนไหวเหนือแนวรับ 1,270 ดอลลาร์/ออนซ์ได้ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาทองไทยประเมินแนวรับไว้ที่บาทละ 19,100 บาท และประเมินแนวต้านไว้ที่บาทละ 19,500 บาท” นายแพทย์กฤชรัตน์กล่าว

ส่วนภาพรวมการซื้อขายราคาทองในตลาดสัญญาล่วงหน้า (ตลาดอนุพันธ์) นายแพทย์กฤชรัตน์กล่าวว่า ปีนี้โดยภาพรวมปริมาณการซื้อขายทองคำบนช่องทางออนไลน์ทั้งระบบ มีแนวโน้มปรับลดลง แม้ปัจจัยลบสงครามการค้าที่เข้ามากระทบตลาดจะหนุนให้นักลงทุนหันมาลงทุนทองคำมากขึ้นก็ตาม แต่เนื่องจากการซื้อขาย Gold Futures และ Gold Online Futures จะเป็นการซื้อขายราคาทองคำที่คาดกันล่วงหน้า ขณะที่ตัวปัจจัยสงครามการค้าที่บานปลายขณะนี้ ถือเป็นสถานการณ์ที่คาดการณ์อนาคตได้ยากลำบาก ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ราคาทองคำในอนาคตได้ยาก และเป็นผลให้ปริมาณการซื้อขายปรับลดลงในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม พบว่ายอดการซื้อขายผ่าน Gold Online Futures มีการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน และช่วงที่ผ่านมามีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น สวนทางกับภาพรวมการซื้อขายทั้งระบบที่ลดลง โดย Gold Online Futures ทำสถิติปริมาณการซื้อขายสูงสุดมากกว่า 1 หมื่นสัญญา/วัน ขณะที่สัญญา Gold Futures เริ่มมีปริมาณสัญญาลดลง มีสาเหตุมาจาก Gold Online Futures ที่ออกมาใหม่ สามารถวิเคราะห์กำไรขาดทุนได้ง่ายกว่า Gold Futures ที่อิงกับค่าเงินบาท ทำให้เป็นข้อจำกัดของราคาทองในไทยปรับตัวไม่สอดคล้องกับราคาทองโลก

ทั้งนี้ Gold Online Futures เป็นการซื้อขายราคาทองอิงกับค่าเงินดอลลาร์และมีค่าบริสุทธิ์ของทองคำ 96.5% ซึ่งตลาดอนุพันธ์เริ่มนำมาให้ซื้อขายเมื่อ 5 พ.ย. 61 ส่วน Gold Futures เป็นการซื้อขายราคาทองอิงกับสกุลเงินบาท โดยข้อมูลจากตลาดอนุพันธ์รายงานว่า ยอดการซื้อขายของ 2 สัญญาดังกล่าวในรอบปีนี้ (1 ม.ค.-28 พ.ค. 62) พบว่า ส่วน Gold Online Futures มีปริมาณการซื้อขายรวม 703,164 สัญญา หรือเฉลี่ย 7,175 สัญญาต่อวัน ทั้งที่เพิ่งเริ่มเปิดตัวสัญญาดังกล่าวเมื่อปลายปีที่แล้ว ส่วน Gold Futures มีปริมาณการซื้อขายรวมอยู่ที่ 1,258,166 สัญญา หรือเฉลี่ย 12,838 สัญญาต่อวัน