ธุรกิจเงินกู้แห่อัพเกรดไลเซนส์ ยื่นคลังขอทำ “พิโกพลัส” พุ่ง 50 ราย

ผู้ประกอบธุรกิจ “พิโกไฟแนนซ์” แห่ยื่นขออัพเกรดไลเซนส์ “พิโกพลัส” ต่อเนื่อง คลังเผยล่าสุด ยื่นขอใบอนุญาตเข้ามาแล้วกว่า 50 ราย ขุนคลังเซ็นอนุญาตแล้ว 6 ราย ลุยเปิดให้บริการสินเชื่อทันที ขณะที่ยอดอนุมัติปล่อยกู้พิโกไฟแนนซ์ถึงสิ้น เม.ย. 62 อยู่ที่กว่า 2 พันล้านบาท เป็นเอ็นพีแอล 5.11%

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้ขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ประเภทพิโกพลัสที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ปรากฏว่า จนถึง ณ วันที่ 11 ก.ค. 2562 มีผู้ที่ยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจพิโกพลัสเข้ามาแล้วรวม 53 ราย โดยกระทรวงการคลังได้ให้ใบอนุญาตพิโกพลัสไปแล้ว 6 ราย ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา 3 ราย กรุงเทพฯ 1 ราย สงขลา 1 ราย และสมุทรสาคร 1 ราย

“ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจพิโกพลัส ส่วนใหญ่เป็นรายเก่าที่เคยได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วก็สามารถเปิดให้บริการได้ทันที” นายพรชัยกล่าว

สำหรับการประกอบธุรกิจพิโกพลัส จะสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย โดยสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่น รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (effective rate) สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทแรก และเรียกเก็บได้ไม่เกิน 28% ต่อปี สำหรับวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาท

ขณะที่สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (เดิม) ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (effective rate) ทั้งนี้ จนถึง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2562 มีผู้ขออนุญาตทำธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (เดิม) 1,031 ราย ใน 76 จังหวัด โดยได้รับอนุญาตแล้ว 583 ราย ใน 70 จังหวัด ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว 494 ราย ใน 65 จังหวัด และปล่อยสินเชื่อแล้ว 462 ราย ใน 65 จังหวัด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทข้างต้น สามารถให้บริการสินเชื่อโดยรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเพื่อการเกษตรเป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน” หรือ “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” ได้ด้วย

นายพรชัยกล่าวอีกว่า สถิติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ อัพเดตล่าสุด ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2562 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 84,022 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 2,160.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 25,717.11 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 41,022 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,272.37 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58.88% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 43,000 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 888.43 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.12% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม

ขณะที่มียอดสินเชื่อคงค้างรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 30,896 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 753.64 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อคงค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 3,176 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 84.95 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.27% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 2,266 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 38.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.11% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม